LOGISTICS

ผู้เชี่ยวชาญ แนะ โลจิสติกส์ไทยต้องมองมากกว่าแค่ในอาเซียน
POSTED ON 15/10/2558


โลจิสติกส์อุตสาหกรรม - ผศ.ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การแข่งขันในธุรกิจโลจิสติกส์ในตลาดอาเซียน รวมถึงประเทศไทยถือว่ามีความรุนแรงมาก เนื่องจากบริษัทข้ามชาติระดับโลกทั้งรายเก่าและรายใหม่ที่ประสบภาวะขาดทุนจากเศรษฐกิจในยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงจีน ชะลอตัว ต่างมีเป้าหมายมาสร้างรายได้ยังตลาดเอเชีย-แปซิฟิก และมีการขยายธุรกิจครบวงจรมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของไทยที่มุ่งจะไปหาลูกค้าโดยมองโอกาสจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปลายปี 2558 ควรจะวิเคราะห์ธุรกิจ และประเทศที่จะไปลงทุนให้รอบคอบ

 

ทั้งนี้ ผศ.ดร.พงษ์ชัย กล่าวว่า "ถ้าเราตั้งหลักอยู่ในเมืองไทย เราก็เหนื่อย เพราะบริษัทระดับโลกกำลังพุ่งเข้ามาเปิดตลาดในประเทศไทย การที่มีผู้ประกอบการไทยบางราย มองที่จะขยายธุรกิจไปทำตลาดในประเทศ CLMV ก็เหนื่อยเช่นกัน เพราะมีบริษัทคู่แข่งระดับโลก และยังมีบริษัทคู่แข่งในภูมิภาคอาเซียน เช่น บริษัทโลจิสติกส์ในญี่ปุ่น มาเลเซีย ฮ่องกง ดังนั้น การเปิดเสรีอาเซียน หรือไม่เปิดเสรีอาเซียน ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ในเมืองไทยจะต้องพบกับคู่แข่งหน้าใหม่และบริการใหม่ๆ และการแข่งขันจะดุเดือดขึ้นแน่นอน"

 

"แต่ผมไม่อยากให้ผู้ประกอบการไทยคิดจะหาลูกค้าโดยจมอยู่แต่ในอาเซียน อยากให้ถอยมาตั้งหลักสัก 2-3 ก้าว ถ้าใครดิวกับบริษัทฝรั่งจะทราบว่าธุรกิจที่สามารถหารายได้ได้นั้นเหลือไม่กี่ประเทศ เช่น กลุ่ม TIP (ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์) และกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) โดย 7 ประเทศนี้ รวมกันเป็นกลุ่มที่ประเทศที่มีโอกาสสำหรับผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทย และบริษัทระดับโลก ซึ่งตั้งเป้านำรายได้จากการขยายธุรกิจในกลุ่ม TIP บวก CLMV มาพยุงรายได้รวมของกลุ่ม ขณะเดียวกันบริษัทเหล่านี้คงจะรุกธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทยมากกว่านี้อีก" ผศ.ดร.พงษ์ชัย กล่าว

 

แม้ข้อตกลงการเปิดเสรีภาคบริการ สาขาโลจิสติกส์ ที่ทยอยเปิดมาตั้งแต่ 2553 เริ่มจากการเปิดการขนส่งทางอากาศ 2556 และ 2558 ต้องเปิดการขนส่งทางบก และทางรางรถไฟ รวมทั้งไปรษณีย์ที่เป็นพัสดุภัณฑ์นั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า ในความเป็นจริง 24 บริษัทอันดับต้นๆ ของโลกได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยนานแล้ว บางบริษัทมาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย 50 ปีแล้วในลักษณะนอมินี

 

แต่ต่อไปต่างชาติสามารถเข้ามาดำเนินธุรกิจได้เต็มที่ น่าเป็นห่วง กลัวจะเป็นโมเดิร์นโลจิสติกส์คอมปะนี การค้าสมัยใหม่จะเข้ามา ถ้าผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยยังทำธุรกิจแบบโชห่วยแบบเก่า จะถูกบีบให้หายออกไปจากระบบ คล้ายกับกรณีร้านโชห่วย ร้านตัวแทนเครื่องใช้ไฟฟ้าตามหัวเมืองทยอยปิดตัว

 

นอกจากนี้ ทิศทางธุรกิจของบริษัทข้ามชาติมีการปรับตัวขยายธุรกิจ เช่น บริษัทที่ดำเนินธุรกิจสายการเดินเรือทะเล ปัจจุบันขยายธุรกิจเปิดบริษัทโลจิสติกส์รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) ขยายมาเคลียร์สินค้าผ่านพิธีการศุลกากร ขยายมาทำการขนส่งสินค้าแบบไม่เต็มตู้ (LCL) ทั้งทางเรือ และทางอากาศ และมาให้บริการขนส่งสินค้าภายในประเทศไทย

 

การปรับตัวต้องทำ 3 องค์ประกอบการ ได้แก่ (1) การบริการต้องทันสมัย (Modern และ Advance) มีการลงทุนทางด้านเทคโนโลยี (2) ต้องมีความเป็นมืออาชีพ (Professional) และ (3) ความเป็นอินเตอร์ (Internationalization) ต้องมีบริการให้กับชาวต่างชาติได้มากขึ้น จนถึงการออกไปให้บริการต่างชาตินอกประเทศ

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics