LOGISTICS

ส่อง "รถไฟฟ้าหลากสี" หลังยุบสภา ทำ 2 ล้านล้านชะลอ
POSTED ON 19/12/2556


 

ข่าวโลจิสติกส์ - ถึงเมกะโปรเจ็กต์ในร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จะชะลอรอรัฐบาลใหม่และลุ้นคำชี้ขาดจากศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่มีเดดไลน์จะชี้ขาด ช้าหรือเร็ว แต่ที่ยังรันต่อคือรถไฟฟ้าสายสีม่วง-น้ำเงิน-เขียว-แดง ถึงชื่อจะติดอยู่บัญชีเงินกู้ 2 ล้านล้าน หลังกระทรวงการคลังโยกเงินค่าก่อสร้างมาผูกไว้ ไม่ทำให้สะดุด

 

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ไม่มีผลต่อรถไฟฟ้าที่พร้อมประมูล เปลี่ยนใช้เงินกู้ไจก้า (องค์การเพื่อความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่น) และกู้ในประเทศได้ เช่น สายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ รฟม.ประมูลไปก่อน เพราะใช้เวลานานกว่าจะได้ผู้รับเหมาก็ปลายปี 2557 แต่สายอื่นๆ ต้องหาเงินกู้เป็นรายโปรเจ็กต์

 

สายสีม่วง "บางซื่อ-บางใหญ่" วงเงินอยู่ พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน เป็นค่าก่อสร้างงวดที่ 3 กว่า 13,000 ล้านบาท หากกฎหมายไม่ผ่าน ทางกระทรวงการคลังจะหาเงินกู้ใหม่ให้ ล่าสุด รฟม.ยื่นเรื่องไปที่กระทรวงการคลังให้หาแหล่งเงินกู้ในประเทศให้ เพราะจะครบกำหนดจ่ายต้นปี 2557 เช่นเดียวกับสายสีเขียว "แบริ่ง-สมุทรปราการ" มีเงินอยู่ใน พ.ร.บ.กว่า 12,000 ล้านบาท และสายสีน้ำเงิน "บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค" วงเงิน 50,620 ล้านบาท รฟม.จะเบิกเงินกู้ในประเทศก้อนเดิมมาใช้

 

ในด้านความคืบหน้ารถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้าง นายยงสิทธิ์ กล่าวว่า สีม่วงอาจจะเปิดเร็วขึ้นเป็นกลางปี 2559 หลัง บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ บีเอ็มซีแอล จะเร่งจัดหารถให้เร็วขึ้นจากกำหนดเดิมปลายปี 2559 อีก 6-8 เดือนโยธาจะสร้างเสร็จทั้งหมดปี 2557 ล่าสุดวันที่ 31 พ.ย. 2556 ผลงานคืบหน้า 79.55% ช้ากว่าแผนอยู่ 1.21% ในต้นปี สัญญาที่ 1 ทางยกระดับ "บางซื่อ-สะพานพระนั่งเกล้า" กลุ่ม ช.การช่าง และโตคิวจะแล้วเสร็จ คืบหน้า 92.54% ช้าอยู่ 2.42% กลางปีงานสัญญาที่ 2 ทางยกระดับ "สะพานพระนั่งเกล้า-บางใหญ่" ของ บมจ.ซิโน-ไทยฯ ผลงานก้าวหน้า 81.58% เร็วกว่าแผน 2.08% และปลายปี

 

สัญญาที่ 3 อาคารศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร 4 แห่ง "กลุ่มเพาเวอร์ไลน์ฯ" จะสร้างเสร็จ มีผลงาน 57.51% ล่าช้า 7.33%

 

สัญญา ที่ 4 จัดหาระบบรถไฟฟ้า หลังเคลียร์สัมปทานเดินรถจบกับ "บีเอ็มซีแอล" ผู้รับสัมปทาน 30 ปี วงเงิน 82,625 ล้านบาท กำลังสั่งผลิตรถไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่น จะเริ่มทดสอบระบบปลายปี 2558 จะพอดีกับสัญญา 6 งานระบบรางจะแล้วเสร็จ ซึ่ง "บมจ.อิตาเลียนไทยฯ" หลังเริ่มงานได้ 1 ปี มีผลงานแล้ว 48.78% เร็วกว่าแผน 0.28%

 

ส่วน "สายสีน้ำเงิน" ดูเหมือนจะเคลียร์ปัญหาจบ ล่าสุด นายยงสิทธิ์ระบุว่า ยังติดพื้นที่ทับซ้อนกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) บริเวณอุโมงค์ทางลอดแยกไฟฉาย ยังตกลงไม่ได้จะให้ บจ.กำแพงเพชรวิวัฒน์ผู้รับเหมา กทม. หรือยูนิคฯ ผู้รับเหมารถไฟฟ้าก่อสร้าง ส่วน "แยกบางพลัด" รออนุมัติแบบจาก กทม.

 

งานก่อสร้างโดยรวม 5 สัญญา คืบหน้า 45.01% เร็วอยู่ 0.03% สัญญาที่ 1 อุโมงค์ใต้ดินช่วง "หัวลำโพง-สนามไชย" ไซต์ "อิตาเลียนไทย" ก้าวหน้า 50.70% เร็วกว่าแผน 0.10% สัญญาที่ 2 อุโมงค์ใต้ดินช่วง "สนามไชย-ท่าพระ" ทาง "ช.การช่าง" ทำผลงานคืบหน้า 55.42% ช้ากว่าแผน 1.15%

 

สัญญา ที่ 3 ทางยกระดับ "ช่วงเตาปูน-ท่าพระ" ของยูนิคฯ งานคืบหน้า 37.79% ช้าอยู่ 0.79% สัญญาที่ 4 ทางยกระดับ "ช่วงท่าพระ-หลักสอง" ของซิโน-ไทยฯ คืบหน้า 31.16% เร็วกว่าแผน 2.05% และสัญญาที่ 5 วางระบบรางของ ช.การช่าง ก้าวหน้า 63.18% ล่าช้า 1.14% สายสีเขียว "แบริ่ง-สมุทรปราการ" ทาง "ผู้ว่าฯ ยงสิทธิ์" บอกว่า ยังไม่มีปัญหามากนัก คาดว่าเปิดได้ตามแผนในปี 2560 ปัจจุบันมีความคืบหน้า 18.85% ยังติดลบอยู่ 2.58%

 

ส่วนที่ยังลุ้นจะดีเลย์หรือไม่ คือ "สายสีแดง" (บางซื่อ-รังสิต) ระยะทาง 26 กม.ที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ บิ๊กคมนาคมเข็นจนเซ็นสัญญาก่อสร้างไปเมื่อต้นปี 2556 หลังล่าช้านับปี ปัจจุบันผู้รับเหมา "ยูนิค" ผู้ก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ และ "อิตาเลียนไทย" ผู้ก่อสร้างงานโครงสร้างทางยกระดับและสถานีรายทาง กำลังทุบตอม่อโฮปเวลล์ มีผลงานรวมคืบหน้าประมาณ 4%

 

ล่าสุดโครงการเริ่มดีเล ย์อย่างน้อย 5-6 เดือน หลังต้องรื้อแบบสถานีกลางซื่อให้รับกับรถไฟความเร็วสูง 4 สาย พลันที่รัฐบาลเปลี่ยน

 

ตอนนี้ทุกอย่างเหมือนชะงัก เพราะไม่รู้ว่าไฮสปีดเทรนจะได้ไปต่อหรือไม่ จากความไม่ชัดเจนดังกล่าว ยิ่งทำให้โครงการล่าช้าออกไปอีก อยู่ที่การตัดสินใจของการรถไฟแห่งประเทศไทยจะให้ก่อสร้างตามแบบเดิม หรือให้รอแบบใหม่ หากสร้างโครงสร้างรอไฮสปีดเทรน ภาพที่ออกมาจะเหมือนกับตอม่อทางด่วนเกษตร-นวมินทร์ อีกทั้งจะต้องเพิ่มค่าก่อสร้างอีก 1 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าสร้างตามแบบเดิม ทุกอย่างก็ฉลุย

 

ส่วนรถไฟฟ้าสายใหม่ เริ่มประมูลมีสายเดียว สีเขียว "หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต" ระยะทาง 19 กม. ในส่วนงานโยธา 29,140 ล้านบาท จากทั้งโครงการ 58,590 ล้านบาท ที่รอลุ้นรัฐบาลใหม่ มีสีชมพู

 

"แคราย-มีนบุรี" ระยะทาง 34.6 กม. เงินลงทุน 56,691 ล้านบาท และสีส้ม "ศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ-มีนบุรี" ระยะทาง 21.8 กม. เงินลงทุน 110,117 ล้านบาท

 

ปัจจุบันทั้ง 2 สายได้รับไฟเขียวจากบอร์ดสภาพัฒน์แล้ว รอชง ครม.ใหม่อนุมัติ ไม่รู้จะช้าจากแผนเดิมแค่ไหน เพราะกรอบเวลาเดิมไม่มีเหตุยุบสภา เดิมที รฟม. เตรียมเปิดประมูลเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2557 เช่นเดียวกับ สีเหลือง "ลาดพร้าว-สำโรง" ระยะทาง 30.4 กม. เงินลงทุน 48,619 ล้านบาท จะเสนอ ครม.ในไตรมาสแรกปี 2557 พร้อมกับสีม่วงใต้ "เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ" ระยะทาง 23.6 กม. เงินลงทุน 116,000 ล้านบาท

 

ส่วนรถไฟฟ้าตระกูลสีแดงของ ร.ฟ.ท. ก็รอประมูลหลายสาย หากเงินกู้ 2 ล้านล้านมีผลบังคับใช้ แต่หากไม่เป็นไปตามแผนนี้ กว่าจะสร้างแต่ละสายคงรอกันอีกยาว

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ