LOGISTICS

เอกชน แนะ แก้กฎหมายตรวจรถบรรทุกมือสอง
POSTED ON 17/11/2557


โลจิสติกส์อุตสาหกรรม - นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยหลังผู้ประกอบการรถบรรทุกรายย่อยเข้าพบว่า ผู้ประกอบการได้มาขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมผ่อนผันเรื่องการตรวจสอบเครื่องยนต์รถบรรทุกขนาดใหญ่ใช้แล้ว หรือรถบรรทุกมือสอง หลังกรมการขนส่งทางบกออกประกาศให้ผู้ที่นำเข้ารถบรรทุกมือสองจากต่างประเทศต้องนำรถทุกคันมาตรวจเครื่องยนต์กับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อตรวจสอบการปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งหากไม่มีการผ่อนผันจะทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถนำรถไปจดทะเบียนได้

 

"ประกาศของกรมการขนส่งทางบกที่ออกมาในลักษณะนี้ เหมือนเป็นการบังคับให้ผู้ประกอบการทำผิดกฎหมาย ซึ่งทางออกที่น่าจะทำได้ คือ กรมการขนส่งทางบกควรออกประกาศให้การตรวจสอบคุณภาพเครื่องยนต์ของรถบรรทุกไปตรวจกับกรมการขนส่งทางบก ซึ่งมีการเรียกการตรวจสอบแบบอินเซอร์วิสอยู่แล้ว หรือหากเกรงว่ารถเก่าที่นำเข้ามาจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ควรประกาศห้ามนำเข้ารถบรรทุกมือสองไปเลย" นายจักรมณฑ์ กล่าว

 

ทั้งนี้ ด้าน รมว.อุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ สมอ.ไปหารือกับกรมการขนส่งทางบกถึงประเด็นปัญหาที่ว่า สมอ.ไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบเครื่องยนต์รถบรรทุกมือสองตามประกาศของกรมการขนส่งทางบกที่ออกมาได้ และเห็นว่าหากจะให้มีการตรวจเครื่องยนต์รถบรรทุกมือสองก็ควรให้ไปใช้การตรวจแบบอินเซอร์วิสแทน ส่วนผลการแก้ไขจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกรมการขนส่งทางบก

 

"การออกประกาศดังกล่าวยังทำให้ผู้นำเข้ารถบรรทุกมือสองมีต้นทุนเพิ่มขึ้นสูงมากเพราะอุปกรณ์ในการตรวจสอบเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ระดับรถบรรทุกขณะนี้ สมอ.มีอยู่เครื่องเดียว ต้นทุนการตรวจสอบก็อยู่ในระดับสูงถึง 2-3 แสนบาทต่อคัน รวมค่าตรวจสอบกว่า 800 ล้านบาท และต้องใช้เวลาตรวจ 2-3 วันต่อคัน แต่ปัจจุบันมีรถบรรทุกมือสองที่นำเข้ามาแล้วและยังไม่ได้ตรวจเครื่องยนต์อยู่กว่า 4,000 คัน ถ้าต้องตรวจให้เสร็จก็ต้องใช้เวลานานถึง 33 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และทำให้รถบรรทุกมือสองที่วิ่งอยู่เป็นรถเถื่อนหรือรถบรรทุกผิดกฎหมาย" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

 

ด้าน นายสมชัย อัศวโชค แกนนำผู้ประกอบการรถบรรทุกรายย่อย ได้ยื่นจดหมายถึง รมว.อุตสาหกรรม โดยระบุว่า สืบเนื่องจากการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะที่เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้แก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการรถบรรทุกรายย่อย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งการมาทางกระทรวงอุตสาหกรรมให้เยียวยาแก้ไขความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ โดยทางกระทรวงอุตสาหกรรมผ่อนผันออกใบอนุญาตรับรองเครื่องยนต์ของรถบรรทุกขนาดใหญ่และสามารถนำรถบรรทุกขนาดใหญ่ไปจดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบกต่อไปได้ ซึ่งผู้ประกอบการรายย่อย 300 ราย เห็นว่าหากยังไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขโดยทันทีจะส่งผลเสียหายต่อธุรกิจ ถ้ากระทรวงอุตสาหกรรมไม่สามารถบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ประกอบการได้ ก็จะรวมตัวไปทวงถามความเป็นธรรมกับนายกรัฐมนตรีต่อไป

 

ที่มา : โพสต์ทูเดย์, กรุงเทพธุรกิจ