LOGISTICS

ต่างชาติรุกหนักธุรกิจโลจิสติกในไทย เอกชนรับแข่งขันเดือด
POSTED ON 16/09/2557


ข่าวโลจิสติกส์ - นางวัลภา สถิรชวาล เลขาธิการสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย กล่าวถึงสถานการณ์ธุรกิจโลจิสติกส์ไทยว่า ที่ผ่านมามีบริษัทโลจิสติกส์ระดับโลกเข้ามาขยายธุรกิจในไทยต่อเนื่อง แม้จะมีจำนวนน้อยกว่าบริษัทโลจิสติกส์ไทย แต่เป็นผู้กุมตลาดส่วนใหญ่ เพราะบริษัทโลจิสติกส์ไทยส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ทำให้ขีดความสามารถการแข่งขันด้อยกว่า

 

“ไทยได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางอาเซียน ทำให้ต่างชาติสนใจเข้ามาดักโอกาส เริ่มต้นจากการร่วมทุนโลจิสติกส์ในไทย แต่ตลาดจะเปิดกว้างทั้งอาเซียนในปลายปี 2558 ทำให้ต่างชาติทยอยเพิ่มสัดส่วนหุ้น เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต”นางวัลภา กล่าว

 

ด้าน นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (JWD) ผู้ให้บริการ In-land Logistics บริการด้านการจัดการคลังสินค้าและขนส่งระดับภาคพื้นแบบครบวงจร ประกอบด้วย อาหาร เคมีภัณฑ์ และรถยนต์ เปิดเผยว่า มีแผนขยายธุรกิจรองรับเออีซี โดยจะลงทุนไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท ใน 3 ปี ในธุรกิจห้องเย็นและคลังสินค้าในอาเซียน โดยเฉพาะในซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) เพราะการให้บริการในประเทศมีอัตราเติบโตลดลงบางกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะรถยนต์ที่ยอดขายช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลดลง ทำให้การขยายบริการโลจิสติกส์ลดลงตาม

 

ทั้งนี้ JWD ได้วางแผนจะเปิดให้บริการคลังสินค้าในกัมพูชา พม่า และลาว มูลค่า 250 ล้านบาท จากนั้นในปี 2559-2562 จะลงทุนเพิ่มอีก 400-500 ล้านบาท เพื่อให้บริการคลังสินค้าในอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม

 

ธุรกิจแรกที่จะเร่งขยาย คือ กลุ่มอาหารและสินค้าห้องเย็น ที่เติบโตรวดเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดมากขึ้น โดยเฉพาะในกัมพูชา ซึ่งเจดับเบิ้ลยูดี ได้เริ่มเข้าไปทำตลาดแล้ว โดยปัจจุบันได้เข้าไปเปิดให้บริการจัดเก็บ-กระจายสินค้าทั่วไป และสินค้าห้องเย็นรองรับ 5 แฟรนไชส์ ใน 33 สาขา และเริ่มลงทุนจัดตั้งคลังสินค้าห้องเย็นครบวงจรเป็นรายแรก เพื่อรองรับการเติบโตในธุรกิจแฟรนไชส์ของอาร์เอ็มเอกรุ๊ปที่กัมพูชา ซึ่งตั้งเป้าขยายจาก 33 สาขาเป็น 70-80 สาขา ภายใน 5 ปี

 

ทางด้าน นายธนิต โสรัตน์ ประธานกรรมการ บริษัท วีเซิร์ฟ กรุ๊ป หนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์รายใหญ่ในไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีต่างชาติเข้ามาให้บริการขนส่งด้านโลจิสติกส์จำนวนมาก หลังกิจการโลจิสติกส์บางประเภทเปิดทางให้ต่างชาติถือหุ้นเพิ่ม จากไม่เกิน 49% เป็นไม่เกิน 70% ส่งผลให้บริษัทโลจิสติกส์ไทยแข่งขันลำบาก เนื่องจากธุรกิจไม่ได้ออกแบบให้ดำเนินการครบวงจร

 

แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ กล่าวว่า มีความเสี่ยงสูงที่บริษัทโลจิสติกส์ไทยจะแข่งขันยากขึ้น เพราะบริษัทต่างชาติหันมาแข่งขันราคาดุเดือด กวาดลูกค้าให้มาใช้บริการในกลุ่มธุรกิจของตนเองที่ดำเนินการครบวงจร เช่น บางบริษัทต่างชาติที่ให้บริการทางเรือ จะยอมขาดทุนในการบริการทางบก แต่ไปทำกำไรทางเรือ หรือบริษัทที่ให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ ก็ยอมขาดทุนทางบก เพราะอยากจะเป็นผู้ให้บริการในทุกขั้นตอนไปจนถึงการขนส่งทางอากาศ

 

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการโลจิสติกส์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยให้ความสำคัญกับระบบโลจิสติกส์มากขึ้น หากผู้ประกอบการรายใดลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้ จะทำให้ธุรกิจมีกำไรมากขึ้น โดยที่ผ่านมาเห็นความเคลื่อนไหวสำคัญของ บริษัท ไทยเบฟ โลจิสติกส์ จำกัด หนึ่งในธุรกิจของทีซีซี กรุ๊ป ที่ลงทุนสร้างศูนย์กลางกระจายสินค้าทั้ง 4 ภาค ขนส่งสินค้าและบริการไปยังภูมิภาคต่างๆ ของไทย และอนาคตจะเป็นศูนย์กลางในการพักสินค้าจากฐานผลิตในต่างประเทศก่อนนำไปกระจายทั่วไทย

 

สำหรับไทยเบฟเข้ามารุกธุรกิจโลจิสติกส์อย่างจริงจังเมื่อปี 2551 โดยเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 12 ล้านบาท เป็น 1,012 ล้านบาท และปี 2555 ทุ่มงบลงทุน 2,500 ล้านบาท ขยายดีซี 4 ภาค เมื่อรวมธุรกิจขนส่งและกระจายสินค้าในทีซีซี กรุ๊ป ทั้ง เสริมสุข และเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (บีเจซี) ซึ่งมีคลังสินค้ากระจายอยู่ทุกมุมเมืองและต่างประเทศ โดยเฉพาะบีเจซีที่รุกหนักซื้อกิจการในเวียดนาม ทำให้ธุรกิจกระจายสินค้าในเครือมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

 

ด้าน นายวิเชียร กันตถาวร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทเกอร์ ดิสทริบิวชั่น แอนด์ โลจิสติคส์ จำกัด ในเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า ทุนโลจิสติกส์ต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นในลักษณะร่วมทุน ส่งผลกระทบผู้ประกอบการไทยแข่งขันยากขึ้น เพราะการบริหารจัดการต้นทุนสู้ต่างชาติไม่ได้ โดยต้นทุนโลจิสติกส์ไทยสูงถึง 7% เทียบกับต่างชาติทำได้ 2-3%

 

ที่ผ่านมาทุนต่างชาติที่เข้ามารุกธุรกิจในไทย เช่น กลุ่ม Kerry Logistic จากฮ่องกง, ยามาโตะ อุนยู จากญี่ปุ่น และกลุ่มฮิตาชิ ที่สนใจเข้ามาขยายธุรกิจในไทยเพิ่ม

 

อนาคตเมื่อเออีซีเปิด เกิดเส้นทางการค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะพม่าที่เป็นเส้นทางการค้าที่เนื้อหอมสุด มีทุนไทย 39 บริษัทแห่ไปบุกตลาด ประกอบกับไทยเตรียมพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 พื้นที่ เช่น ในจังหวัดสระแก้ว, มุกดาหาร กัมพูชา เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านจะเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจมากขึ้น

 

ขณะที่บริษัทฯ เดินหน้าขยายบริการด้านโลจิสติกส์ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งยังร่วมทุนกับกลุ่มเอ็มเค กรุ๊ป ของพม่า จัดตั้ง บริษัท ไทเกอร์ ดิสทริบิวชั่น แอนด์ โลจิสติกส์ (เมียนมาร์) จำกัด เพื่อให้บริการสินค้าในเครือก่อน

 

ส่วนในไทยเล็งขยายบริการขนส่งสินค้าออนไลน์ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่มาก รวมทั้งการบรรจุสินค้าตามใบสั่งให้กับเอสเอ็มอี การส่งสินค้าโดยจักรยานเจาะพื้นที่รถติด เป็นต้น และอนาคตมีแผนจะผนึกพันธมิตรในมาเลเซีย เพื่อให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติมด้วย ส่วนการให้บริการสินค้าในเครือสหพัฒน์ บริษัทฯ จะเดินหน้าลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้ได้ต่ำกว่า 1%

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ