LOGISTICS

ผู้ส่งออกร้องพาณิชย์ เคลียร์อัตราค่าบริการตู้คอนเทนเนอร์ไม่เป็นธรรม
POSTED ON 05/09/2557


ข่าวโลจิสติกส์ - นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับผู้ประกอบการตู้คอนเทนเนอร์ ผู้ประกอบการเดินเรือ และสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยว่า กรมฯ ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการตู้คอนเทนเนอร์ลดราคาจัดเก็บอัตราค่าบริการยกตู้เปล่ากับผู้ส่งออกลง

 

โดยตู้ฯ ขนาด 20 ฟุต เก็บค่าบริการ 280 บาทต่อตู้ จากเดิมที่เรียกเก็บ 300 บาทต่อตู้ และตู้ขนาด 40 ฟุต เก็บค่าบริการ 560 บาทต่อตู้ จากเดิมที่เรียกเก็บ 600 บาทต่อตู้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15  ก.ย. – 31 ธ.ค. 2557 โดยอัตราดังกล่าวยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%

 

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไม่ให้ความร่วมมือ กรมฯ มีกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการดูแลอยู่ ซึ่งอาจจะนำกฎหมายนี้เข้ามาดูแลและกำหนดค่าบริการได้ โดยยังเป็นเรื่องของอนาคต แต่ขณะนี้ผู้ประกอบการทั้งหมดได้ให้ความร่วมกับทางกรมฯ อย่างเต็มที่

 

“กรมฯ จะส่งหนังสือไปยังผู้ประกอบการตู้คอนเทนเนอร์และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องให้รับทราบถึงอัตราค่าบริการยกตู้เปล่า ก่อนที่จะถึงกำหนดการเรียกเก็บค่าบริการใหม่นี้ และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่กรมฯ ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการแล้ว ก็จะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาหารือกันใหม่อีกครั้ง เพื่อพิจารณาการเรียกอัตราค่าบริการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอาจจะเรียกเข้ามาหารือกันในเดือน ม.ค.2558” นายสันติชัย กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม การหารือครั้งนี้เป็นผลมาจากสภาผู้ส่งออกฯ เข้ามาร้องเรียนมาที่กรมฯ ว่า มีการเก็บอัตราค่าบริการยกตู้เปล่าไม่เป็นธรรมในท่าเรือแหลมฉบัง ทางผู้ประกอบการตู้คอนเทนเนอร์ ผู้ประกอบการเดินเรือ และสภาผู้ส่งออกฯ ไม่สามารถตกลงค่าบริการกันได้ เพราะอาจจะไม่ไว้ใจกัน กรมฯ จึงเป็นตัวกลางเพื่อประสานกับผู้ประกอบการทั้งหมดเพื่อหาข้อสรุปอัตราค่าบริการยกตู้ที่ทั้งหมดยอมรับกันได้

 

ด้าน นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นสัญญาณที่ดีที่ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือและดูแลการเก็บค่าบริการต่างๆ โดยเฉพาะค่าจ่ายในการเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ (เทอร์มินอล แอนด์ดิ้ง ชาร์จ) และค่าบริการอื่นๆ ของบริษัทเดินเรือ ไม่ว่าจะเป็นค่าเอกสาร ค่าล้างตู้คอนเทนเนอร์ ค่ายกตู้ เป็นต้น เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทเดินเรือทยอยเพิ่มการเก็บค่าใช้จ่ายในรายการต่างๆ มากขึ้น และบางรายการเก็บพร้อมกันเกือบทุกราย จนเป็นภาระต้นทุนแก่ผู้ส่งออกอย่างมาก

 

แต่ทั้งนี้เชื่อว่าหลังจากที่กรมการค้าภายในเข้ามาดูแล ในอนาคตผู้ประกอบตู้คอนเทนเนอร์และผู้ประกอบการเดินทางคงไม่กล้าปรับราคาโดยไม่มีการหารือกับผู้ส่งออกก่อนแน่นอน เพราะหากไม่มีการหารือกันสภาฯ ก็จำเป็นต้องให้กรมการค้าภายในเข้ามาเป็นตัวกลางในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวด้วย

 

“เท่าที่ทราบ บริษัทเดินเรือมักจะอ้างว่า ปัจจุบันการนำเข้าหรือส่งออกของประเทศไทยมีปริมาณลดลงอย่างมาก ทำให้บริษัทเดินเรือไม่คุ้มค่าต่อการเดินเรือไปและกลับ โดยเฉพาะขากลับที่อาจต้องวิ่งเรือเปล่า หรือมีสินค้าเข้ามาน้อย จึงจำเป็นต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายกับผู้ส่งออกไทยแทน ทั้งการเพิ่มอัตราการเก็บค่าใช้จ่ายเทอร์มินอล แอนด์ดิ้ง ชาร์จ และค่าบริการอื่นๆ เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป” นายนพพร กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของค่าบริการต่างๆ นั้นผู้ส่งออกไม่ได้ห้ามให้ขึ้นราคา เพราะผู้ประกอบการไทยต้องมีต้นทุนในการส่งออกเพิ่ม หลังจากที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากต้นทุนของวัตถุดิบ และค่าแรงที่ปรับเพิ่ม ปริมาณเรือเข้ามาในไทยมีปริมาณน้อยต่างจากในอดีต แต่การปรับราคาต้องหารือกับผู้ส่งออกด้วยเพื่อหาราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมทุกฝ่าย แต่หากตั้งราคากันเองแล้วมาเก็บผู้ส่งออกก็จำเป็นต้องร้องเรียนให้กรมการค้าภายในเข้ามาดูแลต่อไป

 

ที่มา : แนวหน้า