LOGISTICS

เร่งพัฒนาท่าเรือปากบารา จ.สตูล ลดต้นทุนโลจิสติกส์
POSTED ON 15/08/2557


 

ข่าวโลจิสติกส์ - นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งสัญญาณชัดเจนในการเดินหน้าพัฒนาท่าเรือปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล และโครงการดังกล่าวถูกบรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในระยะ 4-8 ปีของกระทรวงคมนาคม

 

โดย สนข. เห็นว่าหากเป็นไปตามแผนที่กรมเจ้าท่าตั้งเป้าหมายที่จะเริ่มเดินหน้าการก่อสร้างโครงการตั้งแต่ปี 2559 จนสามารถเปิดท่าเรือได้ในปี 2563 ท่าเรือปากบาราจะมีส่วนสำคัญรองรับการขยายตัวการขนส่งทางน้ำของไทยและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้มาก

 

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาในอดีตชัดเจนว่าท่าเรือปากบาราที่มีการพัฒนาเป็นท่าเรือขนาดใหญ่จะรองรับการขนส่งสินค้าจากพื้นที่ภาคใต้ของไทย เช่น  ยางพารา อาหารทะเล และส่งออกจากชายฝั่งทะเลอันดามันไปประเทศต่างๆ จะช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการไทยที่ขณะนี้ต้องส่งสินค้าไปลงที่ท่าเรือปีนังของมาเลเซีย และท่าเรือของสิงคโปร์ ปีละไม่น้อยกว่า 300,000 ตู้คอนเทนเนอร์ (TEU) ขณะที่ท่าเรือปากบาราเฟสแรกจะรองรับการขนส่งสินค้าได้สูงสุด 800,000 TEU ต่อปี ทำให้ผู้ประกอบการไทยลดต้นทุนขนส่งได้มากขึ้น

 

ขณะเดียวกัน สนข. มีผลการศึกษาระบบขนส่งต่อเนื่องที่จะต้องเชื่อมกับท่าเรือปากบารา โดยเห็นว่าควรมีการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่จากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เชื่อมต่อกับท่าเรือปากบาราจะทำให้ท่าเรือใช้งานได้เต็มศักยภาพและในอนาคตจะสามารถพัฒนาสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) จากท่าเรือสงขลา โดยมีรถไฟทางคู่วิ่งเชื่อมต่อท่าเรือปากบารา ทำให้เกิดระบบขนส่งเชื่อมต่อ 2 ชายฝั่งทะเลของไทย

 

โดย สนข.ยังลงพื้นที่สำรวจการพัฒนาท่าเรือของประเทศในภูมิภาคที่จะรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปลายปี 2558 เช่น ท่าเรือเมาะละแหม่งของเมียนมาร์ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา โดยเมียนมาร์จะเปิดเป็นท่าเรือเพื่อการขนส่งสินค้า จากปัจจุบันเป็นเพียงท่าเรือเฟอร์รี่  ซึ่งไทยสามารถเชื่อมโยงการขนส่งผ่านด่านแม่สอด จังหวัดตาก โดยเส้นทางถนน ระยะทางประมาณ 120 กม. และเชื่อว่าจากการตื่นตัวของรัฐบาลเมียนมาร์ในการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะมีการแก้ปัญหาอุปสรรคด้านการขนส่งปรับปรุงถนนดีขึ้น ก็จะเป็นโอกาสสำหรับไทยในการขนส่งสินค้าจากภาคเหนือมายังประเทศเมียนมาร์และใช้ประโยชน์จากท่าเรือเมาะละแหม่งในการขนส่งสินค้าในอนาคตได้

 

นอกจากนี้ ยังมีท่าเรือติลาวา ที่ย่างกุ้ง ซึ่งเอกชนจากญี่ปุ่นได้มาลงทุนบริหารท่าเรือเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่รองรับสินค้าของเมียนมาร์ในอนาคต ซึ่ง สนข.จะศึกษาแนวทางการเชื่อมโยงการขนส่งกับไทยในอนาคต

 

ล่าสุดอธิบดีกรมเจ้าท่า ได้หารือกับ คสช. ถึงแนวทางเร่งรัดโครงการท่าเรือปากบารา คาดว่าจะใช้งบประมาณลงทุน 14,000-15,000 ล้านบาท ขณะที่กรมเจ้าท่าศึกษาและออกแบบการก่อสร้างโครงการไว้แล้ว และได้ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไว้แล้ว แต่ที่ผ่านมามีการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ส่วนหนึ่งเนื่องจากเกรงว่าการเกิดขึ้นของท่าเรือและเขตอุตสาหกรรมจะกระทบวิถีชีวิตคนในชุมชน ซึ่งในส่วนนี้กรมเจ้าท่าจะร่วมมือกับ คสช. ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชน

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย