LOGISTICS

"ประจิน" ถกร่วมคมนาคม วางยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างโลจิสติกส์
POSTED ON 23/07/2557


 

ข่าวโลจิสติกส์ - พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ หารือ "นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์" ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมหัวหน้าส่วนราชการและผู้แทนรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือ เพื่อกำหนดข้อสรุปร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เตรียมนำเสนอต่อหัวหน้า คสช.ในการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

                   

สำหรับการประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับประเด็นแผนงาน โครงการ ในยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม 5 ด้าน ที่ได้ประชุมไปแล้วรวม 4 ครั้ง เพื่อนำมาบูรณาการกับนโยบายของหัวหน้า คสช.ในเรื่องการเชื่อมต่อพื้นที่สำคัญภายในประเทศและระหว่างประเทศ ได้แก่ เมืองหลวง เมืองใหญ่ ชนบท เมืองท่า ด่านชายแดน และนิคมอุตสาหกรรม ในการเตรียมความพร้อมรองรับการเข้าสู่ ประชมคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในเอเชีย       

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์หลักของกระทรวงคมนาคม แบ่งเป็น 5 ยุทธศาสตร์ คือ

 

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยุทธศาสตร์ระบบรถไฟ ที่จะมีการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ เช่น รถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทาง วงเงินรวม 116,000 ล้านบาท คือ

 

(1) ลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม.วงเงิน 24,000 ล้านบาท

(2) มาบกะเบา-นครราชสีมา (ถนนจิระ) ระยะทาง 132 กม. วงเงิน 29,000 ล้านบาท

(3) ถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กม. วงเงิน 26,000 ล้านบาท

(4) นครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. วงเงิน 20,000 ล้านบาท

(5) ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 17,000 ล้านบาท

               

ส่วนโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ (1) เป็นงานปรับปรุงทาง ราง หมอน สะพาน และติดตั้งรั้ว (2) โครงการติดตั้งเครื่องกั้นถนนเสมอระดับและปรับปรุงเครื่องกั้น (3) โครงการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณไฟสีทั่วประเทศ และ (4) โครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคม

 

โครงการก่อสร้างทางคู่ 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,364 กม. วงเงิน 140,000 ล้านบาท คือ

 

(1) หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม.

(2) ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กม.

(3) สุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 339 กม.

(4) ปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กม.

(5) ขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 174 กม.

(6) ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กม.

 

และโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 696 กม. วงเงิน 120,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ พ.ร.บ. 2 กู้เงิน คือ (1)เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม. (2) บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 347 กม. และ (3) ชุมทางบ้านภาชี-อ.นครหลวง ระยะทาง 15 กม.

               

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น รถไฟฟ้า 10 สาย ถนนรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น

 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านถนน เช่น โครงการถนนเชื่อมภูมิภาค เชื่อมระหว่างจังหวัด แบ่งเป็น 3 ระดับ เชื่อมในระดับพื้นที่ ระดับเชื่อมเมืองหลัก และระดับเชื่อมต่างประเทศ โครงการขยายถนน 4 ช่องจราจร รวมถึงโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และโครงการทางพิเศษเชื่อมภูมิภาค 5 โครงการ เช่น โครงการทางพิเศษสายดาวคะนอง-พระราม 2 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

 

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ทางน้ำ โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ และเขื่อนป้องกันตลิ่ง โครงการขุดลอกร่องน้ำ การบำรุงรักษาร่องน้ำ

               

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ทางอากาศ เช่น โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 โครงการขยายท่าอากาศยานดอนเมือง โครงการจัดจราจรทางอากาศ และการจัดซื้อเครื่องบินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยจะแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 เฟส โดยเฟส 1 เป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการในปี 2558 ทั้งในส่วนของการก่อสร้างหรือศึกษา วงเงินลงทุนรวมประมาณ 210,000 ล้านบาท เฟส 2 เป็นโครงการที่เริ่มดำเนินการในปี 2559-2560 วงเงินลงทุนสำหรับโครงการใหม่ประมาณ 170,000 ล้านบาท และจะเป็นการลงทุนในส่วนของโครงการที่ ต่อเนื่องมาจากเฟสแรกอีกส่วนหนึ่ง ส่วนเฟส 3 คือ โครงการที่เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป

 

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของวงเงินลงทุนรวมนั้น กระทรวงคมนาคมได้หารือกับ พล.อ.อ.ประจิน เพื่อให้ได้วงเงินรวมตามกรอบยุทธศาสตร์ ก่อนมีการนำเสนอข้อมูลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.รับทราบก่อนสรุปเรื่องแผนและตัวเลขลงทุนที่ชัดเจนอีกครั้ง

 

ที่มา สำนักข่าวไทย