LOGISTICS

สนข. เร่งทำแผนพัฒนาศูนย์พักรถบรรทุก 41 แห่งทั่วประเทศ
POSTED ON 18/07/2557


 

ข่าวโลจิสติกส์ - นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนข.กำลังเร่งจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาจุดพักรถบรรทุกจำนวน 41 แห่ง แยกเป็นจุดพักรถบรรทุก 28 แห่ง และศูนย์บริการพักรถบรรทุก (ทรักเทอร์มินอล) 13 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ บนเส้นทางขนส่งสินค้าหลักของประเทศที่รองรับการขนส่งสินค้าในประเทศและอาเซียน หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในปี 2558 จากปัจจุบันที่มีเพียง 4 จุดเท่านั้น ได้แก่ บริเวณขุนตาล ลำตะคอง ชัยนาท และเขาโพธิ์ ซึ่งไม่เพียงพอ

 

แผนพัฒนากำหนดไว้ 15 ปี ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 8,600 ล้านบาท แยกเป็นค่าที่ดิน 2,200 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง 6,400 ล้านบาท ประเมินว่าจะสร้างผลประโยชน์ได้ 14,500 ล้านบาท ใน 41 แห่ง โดยแผนพัฒนามี 3 ระยะคือ

 

(1) ระยะแรก 5 ปี (2558-2562) 13 แห่ง แบ่งเป็นศูนย์บริการพักรถบรรทุก 4 แห่ง ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา, อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี, อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ และ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา และจุดจอดพักรถบรรทุก 9 แห่ง ที่ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา, อ.เมือง จ.สุรินทร์, อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์, อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา, อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ, อ.สบปราบ จ.ลำปาง, อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี, อ.หัวหิน และ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ งบฯลงทุน 2,700 ล้านบาท สร้างผลประโยชน์ 5,000 ล้านบาท

 

(2) ระยะกลาง 5-10 ปี (2563-2567) จำนวน 14 แห่ง แบ่งเป็นศูนย์บริการพักรถ 4 แห่ง ที่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา, อ.เมือง จ.ตาก, อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร และ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และจุดจอดพักรถบรรทุก 10 จุด มี อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น, อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ, อ.เมือง จ.อุดรธานี, อ.เมืองสระแก้ว จ.สระแก้ว, อ.แกลง จ.ระยอง, อ.งาว จ.ลำปาง, อ.เมือง จ.กำแพงเพชร, อ.เมือง จ.สมุทรสาคร, อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช และ อ.เมือง จ.กระบี่ เงินลงทุน 2,500 ล้านบาท สร้างผลประโยชน์ 5,700 ล้านบาท

 

(3) ระยะยาว 10-15 ปี (2567-2572) จำนวน 14 แห่ง แบ่งเป็นศูนย์บริการพักรถบรรทุก 5 แห่ง ที่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น, อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี, อ.เมือง จ.พิษณุโลก, อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี และ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี และจุดจอดพักรถบรรทุก 9 แห่ง ที่ อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์, อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร, อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี, อ.เขาสมิง จ.ตราด, อ.เด่นชัย จ.แพร่, อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์, อ.ห้วยยอด จ.ตรัง, อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และ อ.คุระบุรี จ.พังงา ใช้เงินลงทุน 3,400 ล้านบาท สร้างผลประโยชน์ 3,800 ล้านบาท

 

นายจุฬากล่าวต่อว่า สำหรับรูปแบบลงทุนรัฐจะร่วมกับเอกชน ซึ่งกรมทางหลวงจะรับผิดชอบโครงสร้างและเวนคืน ส่วนเอกชนจะรับสัมปทานบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยบริษัทที่ปรึกษาเสนอพื้นที่นำร่อง จะพัฒนาก่อน 3 จุด ได้แก่ (1) บริเวณ ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 282 ไร่ เป็นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ในความดูแลของศูนย์การสุนัขทหาร กรมการสัตว์ทหารบก (2) บริเวณ ต.หงษ์เจริญ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร เนื้อที่รวม 50 ไร่ เป็นพื้นที่สงวนนอกเขตทางของกรมทางหลวง และ (3) บริเวณ ต.สำราญ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เนื้อที่รวม 39 ไร่ เป็นพื้นที่สงวนนอกเขตทางของแขวงการทางขอนแก่น

 

โดยจะนำร่องแห่งแรกที่หนองสาหร่ายบนถนนมิตรภาพสายใหม่ โดยจะขอใช้ที่ดินของกรมธนารักษ์พัฒนา ในจำนวน 282 ไร่ จะก่อสร้างศูนย์บริการพักรถบรรทุก 82 ไร่ มีห้องน้ำ ปั๊มน้ำมัน ที่นั่งพัก ร้านค้าสะดวกซื้อ ศูนย์อาหาร และห้องพักรายวัน งบประมาณค่าก่อสร้างจะของบฯ กลางปี 2558 คาดว่าเดือนธันวาคมนี้จะนำเสนอรัฐบาลใหม่พิจารณา ใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปี แห่งแรกเปิดบริการได้ในปี 2559 หรือต้นปี 2560

 

ส่วนแผนพัฒนาส่วนที่เหลือจะทยอยดำเนินการโดยเอกชน เจ้าของที่ดิน หรือเจ้าของกิจการรถบรรทุกจะร่วมลงทุนก็ได้ โดยเปิดให้รับสัมปทานบริหารพื้นที่ระยะยาว ขณะนี้กำลังพิจารณาระยะเวลาสัมปทาน โดยเอกชนที่มาบริหารจะมีรายได้จากการประกอบธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน และบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ