LOGISTICS

ส.อ.ท.ลุยส่งเสริม Green Supply Chain ให้อุตฯ เป้าหมาย
POSTED ON 01/07/2557


 

ข่าวโลจิสติกส์ - นางพรรรัตน์ เพชรภักดี ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้รับการสนับสนุนจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ในการสนับสนุนด้านงบประมาณและองค์ความรู้ เพื่อดำเนินโครงการจัดทำแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เพื่อ Green Supply Chain ของอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อการส่งออก เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การใช้ทรัพยากรและการขนส่ง รวมถึงการขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนฟุตพรินท์ของผลิตภัณฑ์

 

สำหรับในปีนี้อุตสาหกรรมเป้าหมายของโครงการ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อการขยายตัวของประเทศ เช่น ข้าวและข้าวแปรรูป และอุตสาหกรรมผลไม้อบแห้ง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ ทั้งนี้เพื่อรองรับการเปิดเสรีมลทางการค้าของ AEC ในสินค้าเกษตร 23 รายการ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของไทย

 

สำหรับโครงการในปี 2557 นี้ มีผู้สมัครเข้าร่วมเพื่อทำฉลากคาร์บอนฟุตพรินท์ 10 ราย โดยเริ่มดำเนินโครงการมาแล้วตั้งแต่เดือน พ.ค. และจะสิ้นสุดลงในเดือน ธ.ค. คาดว่าจะสามารถรวบรวมตัวเลขคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงได้ภายหลังเสร็จสิ้นโครงการ ทั้งนี้จากการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาพบว่า สามารถลดคาร์บอนในองค์กรได้ถึง 340,000 ตันคาร์บอนออกไซด์ และลดคาร์บอนในผลิตภัณฑ์ได้มากกว่า 17 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์

 

ด้าน นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า กพร.มีงบประมาณสนับสนุนโครงการดังกล่าวประมาณ 4 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากต้องการให้ผู้บริโภคได้ใช้สินค้าที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งผู้ผลิตยังสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก ทั้งในประเทศที่กำหนดมาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทั้งแบบบังคับและสมัครใจ ซึ่งการติดฉลากสิ่งแวดล้อมจะช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้มาก

 

"สำนักโลจิสติกส์ เราพยายามยกระดับห่วงโซ่อุปทานสู่ green supply chain ทั้งเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเพื่อเพิ่มขีดความสามารถแก่ผู้ผลิตสินค้า เราจึงจัดทำโครงการนี้มาต่อเนื่อง เพื่อช่วยผู้ประกอบการจัดการโลจิสติกส์ตลอดทั้งห่วงโซ่ และรวมไปถึงแนวทางการทำฉลากคาร์บอนฟุตพรินท์ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของไทย" นางอนงค์ กล่าว

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ