LOGISTICS

สภาอุตฯ ผนึกกำลัง 2 หน่วยงาน ผลักดันผู้ประกอบการ บริหารระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน
POSTED ON 05/11/2556


 

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา สถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ผลักดันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมันสำปะหลังและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 10 แห่ง จัดพิธีลงนามความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการดำเนินโครงการจัดทำแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เพื่อ Green Supply Chain ของอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อการส่งออก เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ ด้านการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน หวังลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ และได้รับรองฉลากคาร์บอนฟุตพรินท์ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่โลจิสติกส์สีเขียวในตลาดการค้าโลก งานจัดขึ้น ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

 

นอกจากนี้ ยังเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรของสถานประกอบการให้มีความรู้และความสามารถในการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง และเพื่อให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงความสำคัญของการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และสามารถวิเคราะห์คำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ได้ด้วยตนเอง

 

นางอนงค์ ไพจิตรประภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยว่า โครงการการจัดทำแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เพื่อ Green Supply Chain ของอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อการส่งออก (อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง) นี้ เป็นกิจกรรมที่ทำการศึกษา และดำเนินการปรับปรุงการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขอรับการรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต โดยสื่อผ่านการได้รับการรับรองฉลากสิ่งแวดล้อม (ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์) และขอขอบคุณทั้ง 10 โรงงานนำร่อง และสภาอุตสาหกรรมฯ ที่ให้ความสำคัญและร่วมดำเนินการโครงการนี้

 

นางอนงค์ กล่าว่า ที่ผ่านมาสำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ส่งเสริมการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง และมีความตั้งใจที่จะสนับสนุนให้มีการขยายผลไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป เพื่อเป็นการเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการไทยในการแข่งขันในตลาดการค้าโลก ซึ่งโครงการดังกล่าวได้มีความคืบหน้าในการดำเนินงาน มาเป็นลำดับแล้วดังนี้

 

1.ศึกษาและรวบรวมข้อมูลด้านการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังและอุสาหกรรมต่อเนื่องในมิติที่เกี่ยวกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

2.การจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ของบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมมันสำปะหลังและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เรื่องการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์

 

3.การดำเนินการให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่สถานประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมมันสำปะหลังและอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้ง 10 แห่ง โดยได้ดำเนินกิจกรรมใน 2 กิจกรรม คือ (1) กิจกรรมด้านการจัดการระบบโลจิสติกส์ของสถานประกอบการ และ (2) กิจกรรมด้านการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์นำร่องของโรงงาน

 

ทั้งนี้ ลำดับถัดไปอยู่ในขั้นตอนของการขอรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์กับทางองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกองค์การมหาชน (อบก.) และการจัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ จึงได้จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการการจัดทำแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เพื่อ Green Supply Chain ของอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อการส่งออก (อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง) ระหว่างกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถานประกอบการ ซึ่งหวังอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากทุกภาคส่วน

   

ด้าน นายเชวง จาว รองประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมฯ เป็นองค์กรที่สนับสนุนและเสริมสร้างการพัฒนาศักยภาพภาคอุตสาหกรรม และ SMEs ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคอย่างบูรณาการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสากล เตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงปัจจัยเอื้อ ความสามารถในการแข่งขัน สิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งขอขอบคุณสำนักโลจิสติกส์กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และสถานประกอบการนำร่องที่เห็นความสำคัญด้านการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ตลอดโซ่อุปทาน และคำนึงถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพทุกกระบวนการตลอดโซ่อุปทาน ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ขององค์กรและสมาชิกในโซ่อุปทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

“พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการในครั้งนี้ จะเป็นสื่อกลางให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน และการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ ซึ่งนอกจากจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการและธุรกิจของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกได้แล้ว ยังแสดงถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของตนให้สามารถบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ได้ตลอดโซ่อุปทาน และสามารถประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ของตนได้อีกด้วย” นายเชวง กล่าว