LOGISTICS

คมนาคม เสนอ คสช. พัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ทั่วประเทศ
POSTED ON 13/06/2557


 

ข่าวโลจิสติกส์ - นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวอีกว่า ภายในเดือน มิ.ย.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 2557 เพราะจากการรวบรวมข้อมูลในเบื้องต้นพบว่ามีบางหน่วยงานที่ต้องการกู้เงินลดลง ขณะที่บางหน่วยงานต้องการกู้เงินเพิ่มขึ้น

 

นอกจากนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะเร่งหารือเกี่ยวกับการจัดทำแผนบริหารหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 2558 ซึ่งจะมีการพิจารณาแผนการกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น อาทิ โครงการรถไฟฟ้า 10 สาย และโครงการรถไฟรางคู่ เป็นต้น ทั้งนี้ ในขั้นแรกต้องมาพิจารณาก่อนว่าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานส่วนไหนที่มีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ภายในปีงบประมาณ 2558 และเมื่อคัดสรรโครงการเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องมาดูต่อว่าจะใช้แหล่งเงินจากที่ไหนบ้าง หลักๆ จะมาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ (1) งบประมาณ (2) เงินกู้ และ (3) พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) อันนี้จะเป็นส่วนเสริมเข้ามา ส่วนการใช้งบประมาณจะเกี่ยวข้องกับการจ้างที่ปรึกษา การจัดการกรรมสิทธิ์ที่ดินต่างๆ เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดี สบน. ยังเตรียมที่จะประชุมเพื่อประเมินทิศทางการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปีงบประมาณ 2557 ในไตรมาสสุดท้าย วงเงินราว 6 หมื่นล้านบาท โดยเบื้องต้นคาดว่าอาจจะมีความจำเป็นต้องกู้เต็มจำนวน

 

นายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมหัวหน้าหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม ได้มีการเตรียมข้อมูลแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของไทยในภาพรวมทั้งหมดเพื่อนำไปประชุมร่วมกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจอีกครั้ง

 

ทั้งนี้ ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นโครงการตามแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมเดิมที่เน้นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า 10 สาย การปรับปรุงทางหลวงแผ่นดินของ กรมทางหลวง (ทล.) ถนนลาดยางของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนรอบนอกและการขนส่งสินค้าเกษตร การก่อสร้างท่าเทียบเรือและการขุดลอกร่องน้ำ เป็นต้น

 

“ยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมมีความชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่ให้แต่ละหน่วยจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง บอกเหตุผลความจำเป็นของโครงการ วงเงินลงทุน โดยได้มอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รวบรวมเสนอทีมด้านเศรษฐกิจ ส่วนเงินลงทุนจะต้องหารือกับทางกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักบริหารหนี้สาธารณะในลำดับต่อไป" นายสมชัย กล่าว

 

ด้าน นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของไทย ซึ่งจะยุทธศาสตร์เชิงนโยบายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งแผนเดิมมีระยะเวลาดำเนินการในปี 2558-2565 กรอบวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มจากแผนเดิมที่รัฐบาลชุดที่แล้วจะดำเนินการในพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เนื่องจากแผนยุทธศาสตร์นี้จะถือเป็นแผนแม่บทที่มีโครงการรวม ทั้งทางราง ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ จากเดิมที่ไม่ได้ใส่โครงการทางอากาศไว้

 

ส่วนการลงทุนนั้น หน่วยรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่จะสามารถใช้เงินลงทุนของตัวเองได้ ดังนั้น ในส่วนโครงการที่เป็นของหน่วยงานราชการนั้นหลังจาก คสช.ฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณาแล้วจะต้องหารือกับทางสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลังเพื่อจัดสรรงบประมาณอีกครั้ง

 

 ที่มา : ไทยโพสต์, แนวหน้า