LOGISTICS

คสช. ยัน รถไฟรางคู่และไฮสปีด มาแน่!! ลุยปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ทั้งประเทศ
POSTED ON 04/06/2557


 

ข่าวโลจิสติกส์ - พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และรองหน้าหน้า คสช. ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า รับทราบแผนงานกระทรวงคมนาคมแล้ว สอดคล้องกับทิศทางที่ คสช.จะเดินหน้าบริหารประเทศ โดยเฉพาะระบบโครงสร้างพื้นฐานจะต้องเดินหน้าต่อไปทุกโครงการ ทั้งทางถนน ท่าเรือ ทางราง และทางอากาศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง ความปลอดภัย แก้ไขปัญหาการจราจร และเชื่อมโยงการเดินทางและกลุ่มประเทศในอาเซียน เนื่องจากประเทศไทยมีจุดแข็งด้านยุทธศาสตร์ทางโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว

 

ทั้งนี้ พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ตัวอย่างโครงการเร่งด่วนที่จะมีการขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 ให้รับผู้โดยสาร 60 ล้านคน สนามบินดอนเมืองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคน จะดำเนินการตามแผนเดิม ส่วนแผนแม่บทโครงการรถไฟจะเดินหน้าโครงการที่พร้อม ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และรถไฟฟ้า 10 สายทาง เนื่องจากบางโครงการติดปัญหาสิ่งแวดล้อม เวนคืนที่ดิน และงบประมาณ

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของกระทรวงที่นำเสนอไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทาง คสช.มารับทราบแผนงานทั้งหมดแล้ว ส่วนใหญ่เป็นโครงการในแผนลงทุน 2 ล้านล้านเดิม ในแผน สนข.มีโครงการที่พร้อมประมูลขอใช้งบประมาณปี 2558 จำนวน 37 โครงการ วงเงิน 101,698 ล้านบาท มีทั้งค่าก่อสร้างและเวนคืนที่ดิน ได้แก่ รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า ปรับปรุงทางราง หมอน ปรับปรุงถนนสายหลัก ขยาย 4 เลน สถานีขนส่งสินค้า ปรับปรุงท่าเรือลำน้ำและชายฝั่ง จะยังไม่มีรถไฟความเร็วสูงเนื่องจากอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) มีสายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา สายกรุงเทพฯ-หัวหิน

 

โดย คสช.ได้ให้น้ำหนักกับรถไฟทางคู่เพราะช่วยเรื่องการขนส่งสินค้าของประเทศ ในแผนการรถไฟฯมี 5 เส้นทางเร่งด่วน เงินลงทุน 1.18 แสนล้านบาท แต่ติดอีไอเอซึ่ง คสช.จะมาเร่งตรงนี้ให้ โครงการพร้อมประมูลเลยมีสายจิระ-ขอนแก่น รอเข้าบอร์ดสิ่งแวดล้อมชุดใหญ่ กับโครงการที่กำลังประมูลคือสายฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย 106 กิโลเมตร จะเคาะราคา 9 มิถุนายน 2557 นี้

 

ส่วนรถไฟฟ้าจะเดินหน้าทุกสายที่กำลังก่อสร้าง ทั้งสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) สีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค) สีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) โดยโครงการพร้อมประมูล มีสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) สีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ (พญาไท-ดอนเมือง) เป็นต้น

 

ส่วนมอเตอร์เวย์ที่พร้อม มีสายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายพัทยา-มาบตาพุด โดยกรมทางหลวงขอค่าเวนคืนในปี 2558 แล้ว รูปแบบลงทุน 2 ทาง คือใช้เงินกองทุนมอเตอร์เวย์ กับดึงเอกชนลงทุนรูปแบบ PPP

 

ด้านทางน้ำจะอยู่ใน 2 ล้านล้านเดิม แผนเร่งด่วนคือท่าเรือประหยัดพลังงาน จ.อ่างทอง 1,323 ล้านบาท และเพิ่มศักยภาพขนส่งสินค้าแม่น้ำป่าสัก 11,180 ล้านบาท เพื่อป้องกันน้ำท่วม ส่วนท่าเรือปากบาราอยู่ระหว่างทำอีไอเอ คาดว่าเริ่มปี 2559 นอกจากนี้ กรมเจ้าท่าของบฯ 5,000 ล้านบาท เพื่อขุดลอก 26 ลุ่มน้ำที่รับผิดชอบ

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ