LOGISTICS

สภาอุตฯ เผย ลดต้นทุนขนส่งสินค้า 2% ภายในปี 2559 ทำได้ยาก
POSTED ON 08/04/2557


 

ข่าวโลจิสติกส์ - นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (2555-2559) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีต้นทุนโลจิสติกส์อยู่ที่ 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 กำหนดเป้าหมายลดต้นทุนการคมนาคมขนส่งลงเหลือ 13% เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯในปี 2559 หรือลดต้นทุนด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศลง 2% ของจีดีพี

 

อย่างไรก็ตาม จากความล่าช้าของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะการก่อสร้างรถไฟรางคู่ ทำให้แผนการพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าอื่นๆ ที่จะรองรับการปรับเปลี่ยนระบบการขนส่งจากถนนไปสู่ระบบรางมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้าต้องชะงักไปด้วยส่วนหนึ่ง

 

"แผนพัฒนาฉบับที่ 11 เริ่มต้นมาแล้วเกือบครึ่งแผน แต่การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้ายังไม่เริ่ม จึงเป็นเรื่องยากที่จะสามารถลดตุ้นทุนการขนส่งสินค้าในแผนพัฒนาฉบับที่ 11 ให้ได้ตามเป้าหมาย เพราะมีความล่าช้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะการลงทุนรถไฟรางคู่" นายพยุงศักดิ์ กล่าว

 

จากข้อจำกัดทางด้านงบประมาณในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ขณะเดียวกันก็มีความล่าช้าในการทำงบประมาณปี 2558 ทำให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานล่าช้าออกไปอีก ดังนั้นการจะลดต้นทุนการขนส่งสินค้าให้ได้ 2% ภายในปี 2559 ตามแผนฯ 11 คงเป็นไปไม่ได้

 

ด้าน นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าในการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศมีความเห็นร่วมกันว่า จะการเดินหน้าโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่อไป แม้จะไม่มี พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ใช้เป็นแหล่งเงินดำเนินการโครงการตามแผนที่วางไว้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุน และพิจารณาแหล่งเงินลงทุน ทั้งด้านงบประมาณและเงินกู้ ตามเงื่อนไขของสัดส่วนการกู้เงินต่องบประมาณและสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี รวมทั้งใช้วิธีการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในบางโครงการ

 

"หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่าจะต้องเดินหน้าต่อไป ในโครงการที่มีความพร้อม ทั้งการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การทำอีไอเอ เพื่อให้โครงการมีความพร้อมและจะสามารถเสนอรัฐบาลใหม่ได้ทันทีเมื่อมีการตั้งรัฐบาลใหม่แล้วเสร็จ" นายชาญวิทย์ กล่าว

 

สำหรับการเป้าหมายการลดต้นทุนการขนส่งสินค้าให้ได้สัดส่วน 2% ภาคเอกชนได้ดำเนินการปรับระบบการจัดการ การลดต้นทุนสต็อกสินค้า ซึ่งค่อนข้างทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนภาครัฐที่ต้องปรับประสิทธิภาพระบบการขนส่งค่อนข้างล่าช้า อย่างไรก็ตามคาดว่าเมื่อมีการลงทุนระบบรถไฟทางคู่ เพื่อปรับระบบการขนส่งสินค้าจากการขนส่งทางถนนไปสู่ระบบรางมากขึ้น จะสามารถขนส่งสินค้าได้จำนวนมากและมีความรวดเร็วมากขึ้น

 

ที่มา : สำนักข่าวทีเอ็นเอ็น