IT & SOFTWARE

ซีบรา เทคโนโลยีส์ เผยเทรนด์ในปี 10 ปีข้างหน้า พัสดุกว่า 50% จะถูกจัดส่งภายใน 2 ชั่วโมง
POSTED ON 19/09/2561


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

บริษัท ซีบรา เทคโนโลยีส์ คอร์ปอเรชั่น เผยผลสำรวจเทรนด์ในอนาคตของบริการ Fulfillment พบว่า ธุรกิจค้าปลีกจำเป็นต้องขยายศูนย์ Fulfillment Center ให้มากขึ้นในขณะที่บริษัทผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ 10 ปีต่อจากนี้ไปจะเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงของหลายภาคธุรกิจ

 

นายทาน อิ๊ก จิน ผู้จัดการธุรกิจ Vertical Solutions บริษัท ซีบรา เทคโนโลยีส์ เอเชีย แปซิฟิค กล่าวว่า ด้วยแรงผลักดันจากเหล่านักช้อปที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีและเชื่อมต่อการสื่อสารอยู่ตลอดเวลา ผู้ค้าปลีก ผู้ผลิต และบริษัทโลจิสติกส์ ต้องร่วมมือกันและแลกเปลี่ยนบทบาทในรูปแบบที่ไม่มีมาก่อนเพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้ซื้อในด้านการจัดส่งสินค้าผ่าน Omni-channel จากการศึกษาวิจัยในหัวข้อ Future of Fulfillment Vision Study ของซีบรา พบว่า 95% ของผู้ตอบแบบสอบถามในเอเชียแปซิฟิกเห็นว่า อีคอมเมิร์ซกำลังเป็นตัวขับเคลื่อนให้มีการส่งมอบที่เร็วขึ้น เพื่อตอบสนองแนวโน้มดังกล่าว บริษัทต่าง ๆ กำลังหันไปใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและ Analytics เพื่อนำระบบอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ระบบที่ช่วยในการมองเห็นสินค้า และ Business Intelligence เทคโนโลยีสำหรับการรวบรวมข้อมูล จัดเก็บ วิเคราะห์ และสรุปภาพรวมของข้อมูลทางธุรกิจในหลายมิติ ไปใช้ในซัพพลายเชนเพื่อแข่งขันในระบบเศรษฐกิจแบบ On-demand ตามความต้องการของผู้ซื้อ

 

จากผลสำรวจของซีบรา พบว่า 67% ของบริษัทโลจิสติกส์คาดการณ์ว่าภายในปี 2023 จะสามารถจัดส่งพัสดุถึงที่หมายภายในวันเดียวกันได้ และ 55% คาดว่าภายในปี 2028 จะสามารถให้บริการจัดส่งพัสดุได้ถึงที่หมายภายในสองชั่วโมง นอกจากนี้ 96% ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าจะใช้บริการจัดส่งแบบ Crowdsourced Delivery หรือเครือข่ายผู้ขับขี่ที่เลือกให้บริการตามคำสั่งซื้อบางรายการภายในปี 2028

 

สำหรับขั้นตอนในการรับคืนสินค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับธุรกิจค้าปลีกและบริษัทโลจิสติกส์ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 93% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นพ้องกันว่า การรับและจัดการการคืนสินค้ายังคงเป็นเรื่องท้าทาย กระบวนการการรับคืนสินค้าในหลายธุรกิจยังมีข้อบกพร่องและต้องการการพัฒนา ปัจจุบัน 58% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นธุรกิจค้าปลีกคิดค่าบริการเพิ่มกรณีคืนสินค้า และ 71% ไม่มีแผนที่จะเปลี่ยนนโยบายนี้ในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม 92% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า เงินทุนเพื่อจัดตั้งและค่าใช้จ่ายระหว่างดำเนินการเพื่อให้บริการแบบ Omni-channel หรือบริการที่มีทั้งช่องทางออฟไลน์คือมีหน้าร้าน และออนไลน์คือมีเว็บไซต์ ถือเป็นความท้าทายหลัก โดยมีเพียง 42% ของซัพพลายเชนที่ตอบแบบสอบถาม ให้บริการในแบบ Omni-channel ซึ่งขัดแย้งเป็นอย่างยิ่งเมื่อมีผู้บริโภคกว่า 73% ใช้บริการซื้อสินค้าผ่านทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ นอกจากนี้ยังพบว่า 55% ขององค์กรยังคงทำงานแบบใช้ปากกาและกระดาษจดซึ่งด้อยประสิทธิภาพในการรองรับการบริการแบบ Omni-channel

 

ภายในปี 2021 ผู้ตอบแบบสอบถามที่ให้บริการโลจิสติกส์ผ่าน Omni-channel 99% จะใช้คอมพิวเตอร์พกพาที่มีเครื่องสแกนบาร์โค้ด หรือแท็บเล็ตเพื่อช่วยปรับปรุงการจัดการโลจิสติกส์ผ่าน Omni-channel ให้สามารถเข้าถึงระบบการจัดการคลังสินค้าแบบเรียลไทม์ได้มากขึ้น

 

ในอนาคต ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นระดับผู้บริหารและมองการณ์ไกล ระบุว่า ซัพพลายเชนต้องมีโซลูชั่นที่เชื่อมโยง มีข้อมูลเชิงลึกทางธุรกิจ และเป็นระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเร็ว ความแม่นยำ และความคุ้มค่าในการขนส่งและแรงงานอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผู้บริหารที่ตอบแบบสำรวจคาดว่า เทคโนโลยีใหม่ที่จะพลิกโฉมการดำเนินธุรกิจ ( Disruptive Technology) มากที่สุด คือ โดรน หรือยานพาหนะที่ไร้คนขับ/ขับขี่ได้เอง ซึ่งเป็น Disruptive Technology ที่สำคัญที่สุด มีบางบริษัทในประเทศจีนได้ใช้ Drone บินสำรวจคลังสินค้าแล้ว ขณะที่เทคโนโลยีที่สวมใส่ไว้กับร่างกาย (Wearable) และเทคโนโลยีพกพา รวมถึงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เริ่มมีบทบาทด้วยเช่นกัน

 

นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยี RFID (Radio-frequency Identification) และแพลตฟอร์มการจัดการสินค้าคงคลังจะเพิ่มขึ้นจาก 32% เป็น 95% ในปี 2028 ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และ Tagging Solution ที่ขับเคลื่อนโดย RFID จะช่วยให้สามารถมองเห็นข้อมูลสินค้าคงคลังได้ลึกลงไปถึงระดับรายการย่อยและเป็นปัจจุบันมากที่สุด ทั้งยังเพิ่มความถูกต้องของข้อมูลสินค้าคงคลังและความพึงพอใจของผู้ซื้อพร้อมกับลดปัญหาสินค้าขาดหรือมีมากเกินความต้องการในสต๊อก หรือปัญหาความผิดพลาดในการเติมสินค้า

 

ด้าน นายศิวัจน์ โรจนเต็มศักดิ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ซีบรา เทคโนโลยีส์ กล่าวว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังเติบโตอย่างมากในประเทศไทยสร้างการเปลี่ยนแปลงและโอกาสทางธุรกิจ จะเห็นเทรนด์สำคัญ ๆ ในหลายธุรกิจ ซึ่งมีการปรับตัวเพื่อให้บริการผู้บริโภคทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ มีการศึกษาและนำข้อมูลการใช้บริการของผู้บริโภคมาใช้ อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการจัดส่งที่รวดเร็วมากขึ้น ธุรกิจสามารถสร้างโอกาสให้กับองค์กรและเพิ่มประสิทธิภาพให้พนักงานผู้ปฏิบัติงานโดยการใช้เทคโนโลยีอย่างพรินเตอร์และคอมพิวเตอร์แบบพกพา ซึ่งให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานในหน้าร้านค้าหรือลงพื้นที่พบลูกค้า

 

สำหรับธุรกิจที่มีการลงทุนทางด้านเทคโนโลยี เป็นอันดับแรก คือ ธุรกิจค้าปลีก (Retail) รองลงมา คือ อุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) และภาคขนส่ง/โลจิสติกส์ (Transportation/Logistic) รวมทั้ง Health Care และ Security โดยซีบรามีผลิตภัณฑ์รองรับความต้องการของธุรกิจดังกล่าว 50,0000 SKU (Stock Keeping Unit)

 

ล่าสุดซีบราได้เปิดตัวเครื่องพิมพ์แบบพกพารุ่นใหม่และโซลูชั่น RFID ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานทั้งในและนอกสถานที่ ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาในแวดวงการให้บริการด้าน Fulfillment เครื่องพิมพ์แบบพกพา ZQ300 Series ใหม่ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานให้กับพนักงานขณะลงพื้นที่ ภายในคลังสินค้า หรือพนักงานหน้าร้าน ด้วยขีดความสามารถในการพิมพ์แบบ On-demand ในขณะที่เครื่องอ่าน RFID แบบ Fixed UHF รุ่น FX9600 ช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของสินค้าปริมาณมากในคลังสินค้าหรือที่ท่าเก็บสินค้าได้อย่างแม่นยำ ตัวเครื่องถูกออกแบบมาเพื่อให้ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่สมบุกสมบัน โดยสามารถทำงานได้แม้ในจุดที่เปียกชื้น เต็มไปด้วยฝุ่น มีความร้อนสูง หรือแม้กระทั่งอุณหภูมิที่ต่ำกว่าศูนย์