IT & SOFTWARE

กสอ. พัฒนาระบบ ERP ให้เอสเอ็มอีใช้ฟรี
POSTED ON 19/08/2558


 

ไอทีอุตสาหกรรม - กสอ.ได้จัดตั้งโครงการระบบซอฟต์แวร์ ERP by DIP สำหรับเอสเอ็มอีไทยขึ้น ภายใต้โครงการดิจิทัลเอสเอ็มอี (Digital SMEs) โดยร่วมมือกับวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจะรับผิดชอบด้านการบริหารโครงการ การจัดหาซอฟต์แวร์ ERP ที่เหมาะสมมาปรับแต่งให้เข้ากับธุรกิจเอสเอ็มอี ทั้งภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ พร้อมทั้งมีการพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่อง โดยมี บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) ดูแลทางด้านการเป็นศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ (Data Center) จัดระบบให้ซอฟต์แวร์ ERP นี้เข้าสู่ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง ที่จะทำให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่ต้องติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ ลงโปรแกรม และดูแลอุปกรณ์เครือข่ายเอง คาดว่าในปีแรกจะใช้งบประมาณสนับสนุนประมาณ 5 ล้านบาท เพื่อมีระบบ ERP ให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กได้ใช้งานโดยไม่คิดมูลค่า

       

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า "ที่ผ่านมามีการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันโดยการนำระบบไอทีมาใช้ ซึ่งพบว่า ระบบ Enterprise Resource Planning หรือ ERP เป็นชุดโปรแกรมเบื้องต้นที่ภาคธุรกิจสามารถนำมาใช้ในการทำงานได้อย่างเป็นระบบและยกระดับการพัฒนาได้เป็นอย่างดี แต่ระบบมีราคาค่อนข้างสูง ทำให้มีเพียงบริษัทใหญ่ๆ ที่มีต้นทุนการดำเนินการสูงเท่านั้นที่จะยอมลงทุน ส่วนกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีกลับต้องเลือกใช้ซอฟต์แวร์เฉพาะด้านขนาดเล็ก"

 

"ระบบซอฟต์แวร์ ERP by DIP สำหรับเอสเอ็มอีไทย ที่จะให้กลุ่มเอสเอ็มอีเข้ามาใช้ฟรีในโครงการนี้จะประกอบด้วย ระบบการซื้อ-ขาย, ระบบงานผลิตสินค้า, ระบบบัญชี, ระบบการจ่ายชำระ รวมถึงระบบการจัดเก็บเอกสาร เป็นภาพรวมระบบที่ใช้ในการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กรโดยรวม หรืออีกนัยหนึ่งคือช่วยการบริหารเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดของทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กรผ่านการบูรณาการ (Integrate) เข้าด้วยกัน และสามารถเชื่อมโยง ณ เวลานั้นทันที (Real Time) ด้วยเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง ซึ่งเอสเอ็มอีแต่ละรายสามารถเลือกใช้ระบบต่างๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของธุรกิจตนเองในขณะนั้นได้ และเมื่อธุรกิจในประเทศได้ทดลองใช้ซอฟต์แวร์ในโครงการฯแล้วต้องการจะเข้าสู่ระบบ ERP แบบเต็ม ที่มีจำหน่ายในตลาดปัจจุบัน ก็สามารถถ่ายโอนข้อมูลจากโครงการฯไปใช้งานได้ทันที เนื่องจากข้อมูลทั้งหมดถูกออกแบบมาให้เป็นระบบเปิดสามารถใช้งานกับโปรแกรมทั่วไปได้ทันที" นายอาทิตย์ กล่าว

      

สำหรับแผนงานในอนาคตนั้น กสอ.จะยังคงร่วมมือกับพันธมิตรทำโครงการนี้ต่อไป และจะเพิ่มจำนวนเอสเอ็มอีที่เข้ามาใช้งานโปรแกรม ERP ให้มากขึ้น พร้อมการเพิ่มกิจกรรมพิเศษสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการใช้โปรแกรมดังกล่าวในแบบก้าวหน้าและมีการนำโปรแกรมไปปรับแต่งให้เหมาะสมกับกิจการตัวเองมากขึ้น (Customize) โดยจะมีที่ปรึกษามาอบรมและเขียนโปรแกรม ทั้งนี้ ผู้ที่จะใช้บริการในส่วนนี้อาจเป็นทั้งรายเก่าที่เข้ามาใช้งานในปีนี้หรือรายใหม่ที่เพิ่งจะเข้ามา ซึ่งจะช่วยให้เอสเอ็มอีไทยสามารถนำระบบไอทีมาใช้งานโดยเสียค่าใช้จ่ายที่ยอมรับได้เฉลี่ยรายละประมาณ 30,000 บาท โดยจะเปิดให้ใช้ระบบซอฟต์แวร์ ERP by DIP ฟรีในปีแรกสำหรับเอสเอ็มอีไทยจำนวน 100 ราย ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ประกอบการกว่า 60 รายเข้าร่วมในโครงการแล้ว คาดว่าจะสามารถลดช่วยต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท

      

ด้าน ผศ.ดร.จิรพล สังข์โพธิ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและวิจัย วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า "โครงการดังกล่าววิทยาลัยนวัตกรรมได้จัดหาซอฟต์แวร์ ERP ที่เหมาะสมกับกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็กมาดำเนินการ เนื่องจากกลุ่มเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงการใช้งาน ERP ในภาคปกติที่มีราคาแพงได้ และ ERP ในปัจจุบันที่ใช้งานบนคลาวด์คอมพิวติ้งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากการเขียนโปรแกรมต้องทำให้เป็นระบบเปิด สามารถโอนถ่ายข้อมูลไปยังระบบอื่นได้ โดยทำงานผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ดังนั้น สถาปัตยกรรมที่วิทยาลัยนวัตกรรมนำมาใช้จึงต้องสร้างให้ตรงตามมาตรฐาน และต้องออกแบบให้ผู้ที่ไม่เคยใช้ ERP สามารถเข้ามาใช้งานได้ง่ายที่สุด อีกทั้งยังต้องหาระบบคลาวด์คอมพิวติ้งที่เชื่อใจได้และมีความเสถียรให้แก่ผู้ใช้งานมากที่สุด โดยจะมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ตัวนี้ไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสามารถปรับแต่งเพื่อใช้งานเฉพาะองค์กรได้ในอนาคต"

      

ขณะที่ทางด้าน นายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอสล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า "โครงการนี้ต้องการระบบบริการด้านคลาวด์คอมพิวติ้งแบบครบวงจร โดยที่มีผู้ใช้งานระบบซอฟต์แวร์ตลอดเวลาถึง 100 ราย และเป็นระบบที่ต้องสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีการล่ม เนื่องจากเป็นซอฟต์แวร์ภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการประกอบการโดยตรง ดังนั้น ซีเอสล็อกซอินโฟจะใช้ศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์อย่างน้อย 3 แห่งเป็นฐาน ทั้งที่อาคารไซเบอร์เวิร์ลด, อาคาร CAT Telecom Tower, อาคารเดอะคลาวด์ (The Cloud) ซึ่งมีพื้นที่เกือบ 2,000 ตารางเมตร และยังมีพื้นที่สำนักงานสำรองหากเกิดภาวะวิกฤต (Disaster Recovery site) ส่วนระบบความปลอดภัยของข้อมูลทางด้านผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีการใช้งานเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งนั้นมีมาตรฐานสากล ISO9001 เรื่องการจัดการคุณภาพในการให้บริการ พร้อมทั้ง ISO27001 มาตรฐานเกี่ยวกับระบบบริหารความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล และ ISO20000 มาตรฐานระบบการจัดการบริการด้านไอที ทำให้ผู้ประกอบการสามารถมั่นใจได้ว่าข้อมูลของผู้ประกอบการจะไม่สูญหายหรือถูกคัดลอกแต่อย่างใด"

 

 

โครงการดิจิทัลเอสเอ็มอี (Digital SMEs) เป็นการขานรับนโยบายยุคดิจิตอลอีโคโนมี ผ่าน 5 แผนงาน อันได้แก่ (1) ผู้ประกอบการใหม่ด้านดิจิตอล (New Digital Entrepreneur) (2) เอสเอ็มอีอัจฉริยะ (Intelligence SMEs) (3) ดิจิตอลเพื่อวิสาหกิจชุมชน (Digital OTOP) (4) สังคมแห่งการเรียนรู้ด้วยดิจิตอล (Digital Knowledge Society) และ (5) ที่ปรึกษาธุรกิจโลกไซเบอร์ (Cyber Service Provider) ซึ่งผลการดำเนินงานทั้ง 5 กิจกรรมนี้สามารถผลักดันและส่งเสริมให้เอสเอ็มอีไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตอลในการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มีมากยิ่งขึ้น

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing