IT & SOFTWARE

แซส แนะไทยใช้ซอฟต์แวร์จัดการอุตฯ พลังงาน
POSTED ON 15/08/2557


 

ข่าวไอที - นายซัทยาจิต ดวิเวดิ ผู้อำนวยการด้านพลังงานและการวางแผนกลยุทธ์ SAS Institute Inc. เปิดเผยในโอกาส เดินทางมาเยือนไทย พร้อมให้สัมภาษณ์พิเศษในหัวข้อ การใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ในอุตสาหกรรมพลังงานและระบบสาธารณูปโภคผู้ประกอบการในไทย จะได้รับอย่างมหาศาลจากซอฟต์แวร์ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องของแซส ที่นอกจากจะสามารถลดราคาค่าน้ำมัน ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ ยังป้องกันน้ำมันรั่ว-โรงไฟฟ้าพัง ก่อนเกิดวิกฤติอีกด้วย

 

แซส มีการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) ในระบบพลังงานและสาธารณูปโภคถือเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับเมืองไทย ทั้งที่โอกาสทางธุรกิจที่ตนมองเห็นนั้นยังมีอยู่มาก เนื่องจากประเทศไทยมีข้อมูลขนาดใหญ่ที่ยังไม่ได้จัดการให้เป็นระบบอยู่จำนวนมหาศาล

 

แซสจะวิเคราะห์ทั้งสิ้น 3 มิติใหญ่ๆ คือ การวิเคราะห์เครื่องมือ โดยวิเคราะห์กันตั้งแต่หน่วยแรกของการผลิต ซึ่งแซสจะมีโซลูชั่นส์ที่เหมาะสม อาทิ Energy Forecasting ที่จะบอกได้ว่าตรงไหนที่มีปริมาณน้ำมัน หรือแหล่งพลังงานไฟฟ้าพอที่จะติดตั้งฐานขุดเจาะน้ำมัน หรือโรงไฟฟ้าได้ และ Asset Performance Analytics จะวิเคราะห์และดูแลอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดตามอายุการใช้งาน หรือหากมีปัญหาเกิดขึ้นกับส่วนใด

 

โซลูชั่นส์เหล่านี้ก็จะสามารถบอกได้ทันที เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าไปแก้ไขได้ทันเวลาและตรงจุด ทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่ก่อให้เกิดการรั่วไหลของน้ำมัน แม้จะอยู่ในส่วนที่เรามองไม่เห็น อุปกรณ์ต่างๆ ไม่หยุดตัวเองลงอย่างกะทันหัน เนื่องจากเราสามารถคาดการณ์ความเสียหายไว้ได้ล่วงหน้า โรงไฟฟ้าต่างๆ จึงจะพร้อมทำงานได้ตลอดเวลาไม่มีปัญหาไฟดับต่อเนื่องอย่างที่เคยเป็นมา มิติที่ 2 คือ การวิเคราะห์ผู้บริโภค เป็นการวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค ตามวัย อายุ ช่วงเวลาการใช้งาน และอื่นๆ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ มาผสมกับมิติแรก

 

แล้วก่อให้เกิดมิติที่ 3 นั่นคือ การวิเคราะห์ระบบการจัดการ ซึ่งจะดูแลตั้งแต่เริ่มต้น เช่นการขุดเจาะน้ำมัน ไปจนถึงการขายรีเทล ว่าผู้ประกอบการจะจัดการอย่างไร เพื่อก่อให้เกิดรายได้มากที่สุด ซึ่งตรงนี้ก็มีโซลูชั่นส์ของแซสหลายตัวที่สามารถรองรับความต้องการของผู้ประกอบการได้ อาทิ Energy Trading & Supply ChainOptimization, Logistic Optimization Digital Oilfield, Integrated Operation, OT and IT Data Managementและ Smart Grid สามารถกล่าวได้ว่า โซลูชั่นส์ของแซสนั้นได้ดูแลทุกภาคส่วนของผู้ประกอบการเลยทีเดียว

 

โซลูชั่นของแซส สามารถดึงข้อมูลแบบเรียลไทม์ ในด้านของการผลิต เราจะสามารถรู้ได้ทันทีหากมีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ท่อที่เคยส่งน้ำมัน มีข้อมูลที่แปลกไป ทางผู้ประกอบการจะสามารถส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลได้ทันที ตามจุดที่รายงานของแซสได้แจ้งไว้ ปัญหา หรือวิกฤติน้ำมันรั่วอย่างที่เป็นอยู่จะไม่เกิด ทำให้ไม่เกิดการอันแพลน ชัตดาวน์ (Unplan Shutdown) ของอุปกรณ์ หรือท่อส่งลดการเสียเวลาและค่าใช้จ่ายที่ต้องไปแก้ไขตรงนั้นหลังจากที่เกิดความเสียหายไปแล้ว

 

นอกจากนี้ การวิเคราะห์ดีมานด์กับซัพพลายก็สำคัญ ทำให้มีการสต๊อกสินค้าได้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งอุตสาหกรรมนี้มีมูลค่ามหาศาล ในขณะเดียวกันก็สามารถได้รับผลกระทบค่อนข้างง่าย จะเห็นได้ว่าแม้การลดความเสี่ยงลงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ ก็สามารถเพิ่มรายได้หลายล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว

 

"เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เปิดขึ้น การปรับลดราคาจะเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันทางการตลาด ตรงนี้ไทยจะสู้เขาได้แต่ก็ต้องมีตัวช่วยเข้ามาดูแล เมื่อเป็นเช่นนั้น คนไทยก็จะได้ใช้น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และสาธารณูปโภคในราคาที่เหมาะสม แต่ถ้าไม่เริ่มเสียแต่ตอนนี้ก็อาจจะไม่ทันคู่แข่งแล้ว” นายซัทยาจิต กล่าว

 

ด้าน นายทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวเสริมว่า จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานสถานการณ์ด้านพลังงานปี 2556 ที่ผ่านมา มูลค่าการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศสูงถึง 1.42 ล้านล้านบาท ประเทศไทยสามารถผลิตพลังงานส่งออกได้ 357,896 ล้านบาท แต่สถิติการใช้พลังงานในไทยเองสูงถึง 2.13 ล้านล้านบาท แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยยังขาดดุลเรื่องของการส่งออกพลังงานถึง 1 ล้านล้านบาท

 

สำหรับเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ นอกจากนี้ ยังช่วยลดความเสี่ยงและความเสียหายจากปัญหาในการผลิต ตัวอย่างเช่น กรณีน้ำมันรั่ว หรือก๊าซรั่วจากโรงงาน ซึ่งหากมีการใช้การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ก็สามารถช่วยป้องกันได้ตั้งแต่ต้น

 

โซลูชั่นส์ด้านพลังงานและสาธารณูปโภคของแซสนั้น มีบริษัทผู้ชั้นนำกว่า 500 บริษัททั่วโลกใช้บริการและประสบความสำเร็จ อาทิ เชลล์ ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก ใช้ Asset Performance Analytics ดูแลเครื่องมือต่างๆ ให้ได้ประโยชน์สูงสุดตลอดอายุการใช้งาน จนเพิ่มรายได้ได้หลายสิบล้านดอลล่าร์ หรือบริษัท อินเดียน ออยล์ (Indian Oil) บริษัทใหญ่ที่ติดอันดับ 1 ใน 100 ของบริษัทค้าน้ำมันและแก๊ส ก็ใช้โซลูชั่นส์เดียวกันจนสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 2-3 ล้านดอลล่าร์ต่อปี และ โคโนโคฟิลลิปส์ (Conoco Phillips) บริษัทผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก ใช้เทคโนโลยีของแซสแล้วสามารถลดการอันแพลน ชัตดาวน์ลงได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์