HOT

ผลสำรวจ NNA เผยบริษัทญี่ปุ่นชี้เวียดนามน่าลงทุนมากที่สุดในเอเชีย ไทยติดอันดับ 4
POSTED ON 10/01/2562


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics, Economic

ผลสำรวจที่จัดทำขึ้นโดยเอ็นเอ็นเอ ระบุว่า บริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินกิจการในเอเชียเล็งเห็นว่า เวียดนามเป็นจุดหมายด้านการลงทุนที่น่าดึงดูดใจที่สุด อันเนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงของประเทศ รวมถึงสถานะอันแข็งแกร่งในฐานะศูนย์กลางการผลิตและตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ ส่วนไทยได้รับความนิยมเป็นอันดับ 4

 

จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 630 คนที่ทำงานในบริษัทญี่ปุ่นทั่วเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และออสเตรเลีย พบว่า 35.7% ของผู้ตอบแบบสอบถามเลือกเวียดนามเป็นประเทศที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มสดใส สูงกว่าอันดับสองอย่างอินเดีย ที่ระดับ 17.8%

 

"เมื่อเราวางรากฐานในเวียดนาม เราจะสามารถขยายการดำเนินงานของเราออกสู่กัมพูชา ลาว และเมียนมาได้" เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นรายหนึ่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมนอกภาคการผลิต กล่าว

 

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า จากการสำรวจที่จัดทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย.-9 ธ.ค. 2561 ศักยภาพการเติบโตในระดับสูงของอินเดียยังคงดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่น

ผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า เศรษฐกิจของอินเดียสามารถฟันฝ่าอุปสรรคจากการยกเลิกธนบัตรที่มีมูลค่าสูงและการเรียกเก็บภาษีสินค้าและบริการมาได้

 

ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามชาวญี่ปุ่นที่ทำงานอยู่ในภาคการผลิตกำลังจับตาศักยภาพการเติบโตของอินเดีย พร้อมระบุถึงปัจจัยบวกจากจำนวนประชากรและรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่มากขึ้นจากการกำหนดกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม

 

ผลสำรวจยังระบุว่า จีนเป็นจุดหมายด้านการลงทุนที่น่าสนใจเป็นอันดับ 3 โดยได้รับคะแนน 7.9% ลดลงจาก 12.6% ในการสำรวจในปี 2560 โดยได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐ

 

ส่วนไทยติดอันดับแหล่งน่าลงทุนเป็นอันดับ 4 ด้วยคะแนน 7.3% โดยนักลงทุนที่ชื่นชอบประเทศไทยระบุถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่นำโดยภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ และไทยมีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมในการเริ่มโมเดลธุรกิจใหม่ๆ

 

นอกจากนี้ อินโดนีเซียได้รับความสนใจจากนักลงทุนญี่ปุ่นเป็นอันดับ 5 โดยได้คะแนน 6.7% ส่วนเมียนมาตามมาที่อันดับ 6 โดยมีคะแนน 6.5% ลดลงจาก 8.7% ในปีก่อนหน้านี้ โดยได้รับผลกระทบจากวิกฤตผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่