HOT

ญี่ปุ่น เล็งลงทุนอุตฯอากาศยาน-เครื่องมือแพทย์-หุ่นยนต์ในไทย
POSTED ON 09/10/2561


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยภายหลังการลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนงเพื่อความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กับ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เจโทร) ว่า การลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนงในครั้งนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจของเจโทร และ สกพอ. ที่จะทำงานร่วมกันในการสร้างกรอบความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่นในพื้นที่อีอีซี

 

โดยเจโทร และ สกพอ. จะมีกิจกรรมร่วมกันในหลายประการ ประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวข้องกับนโยบายของอีอีซี สิทธิประโยชน์ และขั้นตอนการลงทุนต่าง ๆ ให้นักลงทุนญี่ปุ่นได้รับทราบ พร้อมสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยให้มีการลงทุนเพิ่มเติมในหลายสาขา อาทิ อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง และการยกกระดับการวิจัยและพัฒนา (R&D) รวมทั้งผลักดันการลงทุนใหม่จากบริษัทญี่ปุ่นในสาขาเฉพาะ (SectorSpecific Approach) เช่น อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน และอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ และร่วมกันขับเคลื่อนให้โครงการการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นในอีอีซีใเกิดผลสำเร็จ

 

ด้าน นายฮิโรกิ มิตซูมาตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เจโทร) กล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากกว่า 5,400 บริษัท โดยมี 1,016 บริษัทได้ลงทุนในพื้นที่อีอีซี ทั้งนี้ ข้อมูลจากระทรวงพาณิชย์ระบุว่า บริษัทจากญี่ปุ่นเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ลงทุนในพื้นที่อีอีซีเป็นอันดับ 1 คิดเป็น 53% ของการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมดในอีอีซี รวมทั้งญี่ปุ่นได้มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นอันดับ 1 คิดเป็น 49% ของยอดขอการส่งเสริมในพื้นที่อีอีซีทั้งหมด จะเห็นว่าญี่ปุ่นมีความสำคัญในการปรับบทบาทประเทศไทยก้าวไปสู่อุตสาหกรรมชั้นสูงเป็นอย่างมาก

 

"เจโทรจะจับมือกับอีอีซี บริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมโดยมีการตั้งฐานการลงทุนไว้แล้วในประเทศไทย สร้างความเข้มแข็งของฐานเดิมที่มีอยู่ การตั้งเป้าหมายส่งเสริมการลงทุนให้ใน 3 สาขาที่ญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญ เช่น อากาศยาน ดูแลสุขภาพ และหุ่นยนต์อัตโนมัติ" นายฮิโรกิ กล่าว