HOT

ผู้ผลิตปลั๊กพ่วงเร่งปรับสินค้าใหม่ยกแผง หลังเจอยาแรง มอก.ฉบับใหม่ สมอ.อนุโลมขายของเก่าได้จนหมด
POSTED ON 26/02/2561


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

สำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศใช้ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ชุดสายพ่วง มอก.2432-2555 หรือ มอก.ปลั๊กพ่วง ฉบับล่าสุด โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.2561 ที่ผ่านมา และทันทีหลังจากที่ประกาศใช้ มอก.ดังกล่าว ก็ส่งผลให้ผู้ผลิตหลายรายต้องยกเลิกการผลิตสินค้าปลั๊กพ่วงรุ่นเก่าแบบ 2 ขา และใช้ฟิวส์ รวมถึงรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ ตามที่ มอก. ฉบับนี้กำหนด ซึ่งผู้ผลิตบางรายแม้ว่าจะผลิตสินค้าที่เป็น Global Brand จำหน่ายไปทั่วโลก แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของไทยที่กำหนดไว้ จึงทำให้ไม่สามารถจำหน่ายในประเทศไทยได้เช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม ทาง สมอ.ยังอนุญาตให้สามารถจำหน่ายสินค้าที่มีต่อไปได้จนกว่าจะหมด แต่ห้ามนำเข้าหรือผลิตเพิ่มถ้าไม่ได้รับตราเครื่องหมาย มอก. และต้องรายงานสต๊อกสินค้าต่อ สมอ.ให้รับทราบด้วย

 

สิ่งที่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบ ก็คือ ประเทศไทยยังไม่เคยมี มอก.บังคับใช้สำหรับปลั๊กพ่วงมาก่อน ซึ่งสัญลักษณ์ มอก.ที่เห็นติดอยู่บนสินค้าปลั๊กพ่วงที่จำหน่ายในท้องตลาดนั้นส่วนใหญ่จะอ้างอิงจาก มอก. อื่น เช่น มอก.สายไฟ, มอก.เต้าเสียบ หรือ มอก.สวิตช์ เป็นต้น แต่ มอก. ที่ควบคุมตัวปลั๊กทั้งรางนั้นยังไม่เคยมีมาก่อน

 

สำหรับ มอก. ฉบับนี้บังคับใช้กับปลั๊กพ่วงแบบหยิบยกได้ รวมถึงชุดสายพ่วง ที่มีขนาดแรงดันไฟฟ้ามากกว่า 50 โวลต์ แต่ไม่เกิน 440 โวลต์ กระแสไฟฟ้าไม่เกิน 16 แอมป์ สำหรับใช้งานทั้งภายในและภายนอกอาคาร ซึ่งการใช้งานภายนอกนั้น อุณหภูมิต้องไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส แต่ถ้าใช้งานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง อุณหภูมิเฉลี่ยโดยรอบต้องไม่เกิน 35 องศาเซลเซียส

 

สำหรับหัวปลั๊กกำหนดให้ต้องใช้เป็นแบบ 3 ขา ตาม มอก.166-2549 เท่านั้น ตัวเต้ารับจะต้องเป็นไปตาม มอก.166-2549 และมีม่านนิรภัยหรือม่านชัตเตอร์ปิดทุกเต้า ทั้งนี้ ถ้ามีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น สวิตช์ ตัวกรองความถี่ อุปกรณ์ป้องกันแรงดันไฟฟ้าเกิน ต้องได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย

 

 

ในส่วนของสายไฟ สามารถใช้ มอก.11-2553 หรือมาตรฐานอื่นที่สอดคล้องกับ มอก.955 ได้ และส่วนตัวกรอบนอกของอุปกรณ์จะต้องเป็นวัสดุที่ไม่ติดไฟหรือใส่สารกันลุกติดลามไฟ รวมถึงการเชื่อมต่อ L, N และ G ต้องเป็นไปตามมาตรฐานของประเทศไทย โดยเต้ารับทุกเต้าจะต้องมีส่วนที่สัมผัสลงดินจริง ห้ามทำสายดินหลอก และขาเสียบต้องเป็นขากลม มีฉนวนหุ้มที่ขา L และ N

 

 

ปลั๊กพ่วงที่มีเต้ารับตั้งแต่ 3 เต้าขึ้นไป จะต้องมีตัวตัดไฟ (เบรกเกอร์) เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้าเกิน เช่น RCBO หรือ Thermal circuit breaker หรือเป็นไปคุณสมบัติอุปกรณ์ป้องกันกระแสไฟฟ้าเกินที่ถูกระบุไว้ แต่ห้ามใช้ระบบฟิวส์ ส่วนปลั๊กพ่วงที่มีเต้ารับแค่ 1-2 เต้า จะใส่หรือไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกันกระแสไฟฟ้าเกินก็ได้

 

 

ความยาวและพื้นที่หน้าตัดของสายไฟชุดปลั๊กพ่วงต้องเป็นไปตามมาตรฐานดังตารางต่อไปนี้ และสายไฟต้องมี มอก.11 หรือ มอก.955 กำกับไว้ด้วย

 

 

ปลั๊กพ่วงที่มีอุปกรณ์อื่นเพื่มเติมนอกเหนือจาก มอก.ที่กำหนด เช่น USB charger, Noise filter ฯลฯ จะต้องอ้างอิงมาตรฐานสากลอื่น ๆ ด้วยว่าถูกกำหนดไว้อย่างไร ใช้มาตรฐานสากลอะไรมาอ้างอิงกับสินค้านั้น ๆ

 

ทั้งนี้ หากพบว่ามีการกระทำผิด กรณีผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากแสดงเครื่องหมาย มอก. โดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษจำคุก 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

รายละเอียด มอก.ปลั๊กพ่วง ฉบับเต็ม คลิก http://pr.tisi.go.th/รายละเอียดข้อมูล-มาตรฐานชุดสายพ่วง-มอก-2432-2555