HOT

แรงงานจาก 2 โรงงานในปราจีนฯ ลุกฮือประท้วงขอโบนัสเพิ่ม
POSTED ON 22/12/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2560 ที่ผ่านมา พนักงานกว่า 800 คน ของบริษัท สหเซเรน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตถุงลมนิรภัยที่ส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ในนิคมอุตสาหกรรมเครือสหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จ.ปราจีนบุรี ได้รวมตัวกันชุมนุมเรียกร้องเพื่อขอเพิ่มเงินโบนัสประจำปี 2560 โดยขอเพิ่มเป็น 3 เดือน จากที่บริษัทฯ ติดประกาศจะจ่ายเงินโบนัส 2.6 เดือน ซึ่งน้อยกว่าปี 2558 และ 2559 ที่ผ่านมา

 

ด้าน นายวัลลภ ประวัติวงศ์ นายอำเภอกบินทร์บุรี กล่าวว่า ตนและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าร่วมพูดคุยกับฝ่ายบริหารของบริษัทฯ พร้อมตัวแทนพนักงานเกี่ยวกับการเรียกร้องดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2560 ที่ผ่านมา ได้มีการชุมนุมเรียกร้องโบนัสของพนักงานประมาณ 200 คน แต่ก็ไม่ได้ข้อยุติ จึงได้นัดเจรจาต่อรองกันใหม่

 

ในการเจรจาทางบริษัทฯ ชี้แจงว่า ผลประกอบการในปีนี้ได้เพียง 47 ล้านบาท และเห็นว่าการชุมนุมไม่เป็นไปตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งท้ายที่สุดการเจรจาดังกล่าวได้ข้อยุติว่า ทางผู้ชุนนุมขอให้พนักงานที่ออกมาประท้วงไม่ได้รับโทษทางอาญา ไม่ไล่ออก และให้โบนัสเท่าเดิมคือ 2.6 เดือน แล้วจึงสลายการชุมนุม

 

ขณะที่ในวันที่ 20 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา บริเวณหน้าโรงงานของ บริษัท ฟูจิคูระ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ใน จ.ปราจีนบุรี พนักงานบริษัทฯ ประมาณ 1,400 คน ได้รวมตัวกันเรียกร้องหน้าโรงงาน หลังจากบริษัทฯ ปิดประตูไม่ให้พนักงานเข้าทำงานโดยไม่มีกำหนด เหตุจากการเสนอข้อเรียกร้องในการปรับสภาพการจ้างประจำปี 2560 รวมถึงการจ่ายเงินโบนัสปลายปี

 

นายอธิษฐ์ ปัณณวัฒนานันท์ ประธานสหภาพแรงงาน ฟูจิคูระ ปราจีนบุรี ประเทศไทย กล่าวว่า การรวมตัวเรียกร้องก็เพื่อแสดงออกถึงพลังของพนักงานตามขั้นตอนของข้อกฎหมายพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงสวัสดิการของพนักงานให้เหมาะสมกับผลกำไร และให้ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา ซึ่งในปีนี้บริษัทฯ มีผลกำไรเพิ่มขึ้นกว่า 400 ล้านบาท ดังนั้น จึงขอให้มีการจ่ายเงินพิเศษเพิ่มอีก 10,000 บาท จากที่บริษัทฯ ประกาศจ่ายโบนัส 2.8 เดือน บวกเงินพิเศษ 7,000 บาท ส่วนเงินค่าอาหารล่วงเวลาจาก 10 บาท ขอเพิ่มเป็น 20 บาท หลักเกณฑ์การประเมินการปรับค่าจ้างในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 4 ของค่าจ้าง เป็นร้อยละ 5.5 และหลักการประเมินการปรับค่าจ้าง ให้ทางบริษัทฯ ยกเลิกการปรับค่าจ้างระบบระฆังคว่ำ

 

ขณะที่ทางบริษัทฯ ยืนยันว่า จะไม่จ่ายตามข้อเสนอของพนักงาน โดยทางบริษัทฯ ยินดีจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานในอัตรา 2.8 เดือน บวกเงินพิเศษ 7,000 บาท และต้องเป็นไปตามข้อตกลงของบริษัทฯ คือ พนักงานที่ลงรายมือชื่อเรียกร้อง จะต้องทำการถอดถอนรายชื่อออกก่อนเท่านั้น จึงจะจ่ายเงินโบนัสให้ ซึ่งสหภาพแรงงานเห็นว่าเหมือนเป็นการบีบบังคับลูกจ้างทางอ้อม