HOT

อุตฯน้ำตาลส่อวุ่น เหตุหลัง 1 ธ.ค.นี้ รัฐเตรียมลอยตัวราคาน้ำตาล
POSTED ON 24/07/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ รายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานน้ำตาลทราย 54 แห่ง มีความกังวลหลังจากวันที่ 1 ธ.ค.2560 นี้จะเปลี่ยนระบบบริหารจัดการน้ำตาลทรายในประเทศ โดยราคาน้ำตาลจะไปสู่การลอยตัว และยกเลิกระบบโควตา ก. (บริโภคภายในประเทศ) โควตา ข. (ส่งออกโดยผ่านบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยหรืออนท.) โควตา ค. (ส่งออกโดยโรงงานน้ำตาล) ซึ่งจะทำให้การกำหนดราคาอ้อยมีปัญหา ถ้าราคาน้ำตาลในตลาดโลกผันผวนแรง ก็จะทำให้เกิดปัญหาในการจ่ายค่าอ้อยที่โรงงานน้ำตาลจ่ายล่วงหน้าให้ชาวไร่อ้อยไปก่อน หากจ่ายค่าอ้อยให้ชาวไร่อ้อยในราคาที่สูง สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) จะเป็นผู้จ่ายชดเชยส่วนต่างค่าอ้อยให้ในราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ซึ่งตรงนี้กำลังเป็นประเด็นว่า ถ้าเกิดกรณีราคาน้ำตาลในตลาดโลกผันผวนมาก จะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะ ครม.มีมติไม่ช่วยชาวไร่อ้อยแล้ว และกองทุนก็ไม่อยู่ในบทบาทที่ต้องไปจ่ายชดเชยแบบที่ผ่านมา

 

“โดยในขณะนี้ปัญหาคือการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและขั้นสุดท้าย ที่โรงงานน้ำตาลจะต้องจ่ายค่าอ้อยให้ชาวไร่ ซึ่งโรงงานอาจจะจ่ายค่าอ้อยต่ำ เพราะไม่กล้าเสี่ยง ในขณะที่ชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินสำหรับลงทุนในการดูแลอ้อยน้อยลง ซึ่งล่าสุดทั้งภาครัฐและโรงงานน้ำตาลยังตกลงกันไม่ได้ในการแก้ปัญหานี้” นายบุญถิ่น กล่าว

 

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากข่าวว่าจะลอยตัวราคาน้ำตาลหลังวันที่ 1 ธ.ค.2560 เป็นต้นไป โดยปล่อยให้ราคาอิงตามตลาดโลก ทำให้บรรดากลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น กลุ่มเครื่องดื่ม ชะลอการสั่งซื้อน้ำตาล เนื่องจากขณะนี้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกถูกลง ขณะที่ราคา น้ำตาลในประเทศถูกควบคุมอยู่ตามกฎหมายเดิม ดังนั้น ถ้าราคาน้ำตาลลอยตัวก็จะทำให้โครงสร้างต้นทุนต่ำลง เพราะราคาน้ำตาลอิงตามราคาตลาดโลกที่ขณะนี้ราคายังไม่สูงมาก

 

ทั้งนี้ ล่าสุดทางโรงงานน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องการกำหนดราคากลางหรือกำหนดราคาน้ำตาลล่วงหน้า เพื่อลดความเสี่ยงกรณีราคาน้ำตาลผันผวนแรง และสะเทือนถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้ทันตามการขึ้น-ลงของราคาน้ำตาล เหมือนการกำหนดค่าเอฟทีหรือค่าไฟฟ้าผันแปรที่ต้องมีคณะกรรมการดูแล โดยการพิจารณาเรื่องการกำหนดราคากลางนี้จะต้องเกิดขึ้นระหว่างภาคเอกชนตกลงกันเอง ไม่มีภาครัฐเกี่ยวข้องด้วย เพื่อไม่ให้ผิดหลักองค์การการค้าโลก (WTO)

 

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ