HOT

ทาคาตะ ผู้ผลิตแอร์แบ็ครายใหญ่ของญี่ปุ่น เตรียมยื่นขอล้มละลายในสัปดาห์นี้
POSTED ON 19/06/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

บริษัท ทาคาตะ คอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตถุงลมนิรภัยรายใหญ่ของญี่ปุ่น เตรียมยื่นขอล้มละลายพร้อมทั้งขอศาลพิทักษ์ทรัพย์จากการล้มละลายภายในสัปดาห์นี้

 

จากความบกพร่องของถุงลมนิรภัยทาคาตะที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์อย่างน้อย 16 รายทั่วโลก เนื่องจากสารเคมีขับเคลื่อนแอมโมเนียมไนเตรตที่ทำให้ถุงลมนิรภัยกางออกนั้นรุนแรงเกินไป จนทำให้กระบอกสูบโลหะแตก และพ่นเศษโลหะมีคมปลิวกระจายออกมาใส่ร่างผู้ขับขี่และผู้โดยสาร นั่นจึงทำให้ค่ายรถยนต์กว่า 10 แห่งต้องประกาศเรียกคืนถุงลมเกือบ 100 ล้านชิ้น และส่งผลให้ทาคาตะต้องเผชิญกับปัญหาการชดใช้ค่าเสียหายจากการเรียกคืนถุงลมนิรภัยที่ไม่ได้มาตรฐานมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 34,000 ล้านบาท ซึ่งต่อมาทาคาตะได้ยอมรับสารภาพผิดฐานก่ออาชญากรรม พร้อมทั้งยินยอมจ่ายค่าปรับ 1,000 ล้านดอลลาร์ให้แก่ทางการสหรัฐฯ เพื่อยุติการสอบสวนคดีถุงลมนิรภัยระเบิด เมื่อเดือน ก.พ.2560 ที่ผ่านมา

 

ด้านหนังสือพิมพ์นิกเคอิของญี่ปุ่น รายงานว่า ทาคาตะมีหนี้สินเกิน 1  ล้านล้านเยน หรือกว่า 306,000 ล้านบาท จากค่าใช้จ่ายในการเรียกคืนถุงลมนิรภัยที่บกพร่อง ขณะที่ทางด้านตลาดหลักทรัพย์โตเกียวเองก็ได้สั่งระงับการซื้อขายหุ้นของทาคาตะชั่วคราว หลังจากมีข่าวว่าบริษัทฯ กำลังเตรียมยื่นล้มละลาย

 

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ทาคาตะได้เจรจาที่จะขายกิจการให้กับบริษัท คีย์ เซฟตี ซิสเต็มส์ อิงก์ (Key Safety System Inc.) ผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ของสหรัฐฯ ด้วยมูลค่าราว 180,000 ล้านเยน หรือกว่า 55,000 ล้านบาท ซึ่ง คีย์ เซฟตี้ ซิสเต็มส์ อิงก์ นั้น ถูกซื้อกิจการโดยบริษัท นิงโบ จอยสัน อิเล็กทรอนิก คอร์ป (Ningbo Joyson Electronic Corp) ของจีนไปเมื่อปีที่แล้ว ด้วยวงเงิน 920 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 31,300 ล้านบาท และถือเป็นผู้ผลิตถุงลมนิรภัยรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก โดยคาดว่าหากมีการเข้าซื้อกิจการของทาคาตะจริง ก็อาจมีการเตรียมจัดตั้งบริษัทใหม่ และจะยังคงเดินหน้าผลิตถุงลมนิรภัย เข็มขัดนิรภัย และชิ้นส่วนอื่น ๆ ออกป้อนตลาดโลกต่อไป ขณะที่ทาคาตะซึ่งถูกลดขนาดลงจะดูแลเรื่องการชดเชยความเสียหายจากปัญหาถุงลมระเบิด