HOT

พาณิชย์ หวั่น อุตฯยานยนต์-แอร์-ตู้เย็น โดนผลกระทบหนักจากปัญหากาตาร์โดนแบน
POSTED ON 08/06/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน Sustainable Energy Week 2017 ว่า จากกรณีที่ประเทศกาตาร์ถูกประเทศในกลุ่มอาหรับอย่างซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ และบาห์เรน ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศกาตาร์ และปิดพรมแดนทั้งทางบก ทางอากาศ และทางทะเล โดยกล่าวหาว่าสนับสนุนกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงและอิหร่านนั้น เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการจัดซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของไทยที่ทำสัญญาระยะยาวไว้กับทางกาตาร์ โดยล่าสุดจากการสอบถามไปยังกาตาร์ พบว่า การส่งมอบก๊าซรอบถัดไปยังจะเกิดขึ้นตามปกติ ดังนั้น จึงเชื่อมั่นว่าจะไม่กระทบต่อความต้องการใช้ในประเทศอย่างแน่นอน

 

ขณะนี้ได้มีการสั่งการให้ทาง ปตท. ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลนก๊าซ เนื่องจากทาง ปตท.เป็นผู้นำเข้าก๊าซ LNG สัญญาระยะยาวจากกาตาร์ถึง 2 ล้านตันต่อปี ซึ่งหากเกิดปัญหาขึ้น ทาง ปตท.เองก็ได้เตรียมแผนสำรองการสั่งซื้อ LNG จากตลาดจรมาทดแทนไว้แล้ว ทั้งนี้ มั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการราคาได้ และไม่กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าอย่างแน่นอน เนื่องจากราคาในตลาดจรช่วงนี้มีต้นทุนที่ต่ำกว่าราคาปกติที่ทำสัญญาระยะยาว

 

ขณะที่ทางด้าน นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ยังเร็วเกินไปในการประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับการส่งออกของไทยไปยังกาตาร์ แต่ก็ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อธุรกิจการค้าของไทยแล้ว

 

ด้าน นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ที่เมืองดูไบ ว่า การส่งสินค้าทางถนนผ่านทางดูไบไปยังกาตาร์ไม่สามารถดำเนินการได้ แต่การส่งสินค้าทางอากาศจากไทยไปกาตาร์ ยังสามารถดำเนินการได้โดยสายการบิน Qatar Airway ที่บินตรงจากกรุงเทพฯ ไปยังเมืองโดฮา ประเทศกาตาร์

 

ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.2560) ประเทศไทยส่งสินค้าตรงไปยังกาตาร์มูลค่า 102.17 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3,470 ล้านบาท ลดลง 21.43% อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคาดว่าสินค้าอย่างอัญมณี ผักและผลไม้ ที่โดยมากจะใช้การขนส่งทางอากาศ อาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ และตู้เย็น อาจได้รับผลกระทบอยู่พอสมควร เนื่องจากสินค้าดังกล่าวใช้การขนส่งผ่านแดนจากดูไบ

 

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าว ถึงผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ ว่า ระยะสั้นราคาน้ำมันไม่มีผลกระทบมากนัก แม้จะมีความกังวลในประเด็นการลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เนื่องจากกาตาร์มีสัดส่วนการผลิตเพียง 640,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 1.9% ของการผลิตน้ำมันรวมของโอเปก และตามข้อตกลง กาตาร์ต้องลดกำลังการผลิตลง 30,000 บาร์เรลต่อวัน แต่ถ้าไม่ลดก็ไม่ส่งผลกระทบต่อความสมดุลของตลาดน้ำมันโลก แต่เชื่อว่ากาตาร์จะยังคงให้ความร่วมมือเหมือนกรณีอิหร่านที่ยังให้ความร่วมมือกับโอเปก แม้จะมีความขัดแย้งกับซาอุดีอาระเบีย

 

ส่วนผลกระทบระยะยาวที่จะเกิดขึ้น สนค.มองว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจกาตาร์อาจจะกระทบอย่างมีนัยสำคัญใน 3 ด้าน คือ

 

1. ด้านสายการบิน Qatar Airways ไม่สามารถให้บริการและ บินผ่านน่านฟ้าของประเทศที่ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูต ทำให้รายได้ลดลงและต้นทุนเพิ่มขึ้น

 

2. ความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เนื่องจาก 40% ของอาหารที่นำเข้าต้องผ่านชายแดนเพื่อนบ้าน ต้นทุนของอาหารจะเพิ่มขึ้นและอาจเกิดการขาดแคลนได้

 

3. รายได้จากการส่ง ออกก๊าซธรรมชาติอาจจะลดลง โดยกาตาร์เป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวอัดแข็ง (LNG) รายใหญ่สุดของโลก หรือประมาณ 30% ของการผลิตทั้งหมด และตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ และจอร์แดน ซึ่งผลกระทบทางเศรษฐกิจของกาตาร์ อาจส่งผลให้การนำเข้าสินค้าจากไทยลดลงได้