HOT

อุตฯ แจง จ่ายค่าชดเชยให้เหมืองอัครา 3 หมื่นล้านบาทไม่จริง
POSTED ON 28/08/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

นายรอส สมิธ-เคิร์ก (Ross Smyth-Kirk) ประธานบริหาร บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด (Kingsgate Consolidated) ผู้ดำเนินธุรกิจเหมืองแร่สัญชาติออสเตรเลียซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เจ้าของเหมืองทองคำชาตรีใน จ.พิจิตร ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2560 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า "หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งตามมาตรา 44 ให้ปิดกิจการเหมืองทองคำดังกล่าวชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560 เป็นต้นมา เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2560 ที่ผ่านมา ตัวแทนของบริษัทฯ ได้เข้าพบกับตัวแทนของรัฐบาลไทย และทางไทยได้คำสั่งยกเลิกการระงับกิจการเหมืองทองคำชาตรีแล้ว"

 

"ที่ผ่านมา ทางคิงส์เกตและอัคราฯ ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องเหมืองทองคำส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่มาโดยตลอด และหน่วยงานของรัฐเองก็ยังไม่สามารถสรุปผลการตรวจสอบผลกระทบที่กล่าวอ้างได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหมืองทองคำหรือไม่ ทำให้บริษัทฯ ตัดสินใจยื่นเรื่องขอเจรจากับรัฐบาลไทยเมื่อเดือน เม.ย.2560 ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อธุรกิจ โดยเป็นการอ้างอิงเงื่อนไขในข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย หรือ TAFTA" นายสมิธ-เคิร์ก กล่าว

 

นอกจากนี้ ทางคิงส์เกตยังระบุด้วยว่า ทางรัฐบาลไทยจะไม่จ่ายค่าชดเชยแม้บริษัทจะได้รับผลกระทบทางธุรกิจ แต่จะพิจารณาผลประโยชน์หรือข้อผ่อนผันอื่น ๆ ให้แก่กิจการของบริษัทที่อยู่ในประเทศไทยแทน ซึ่งระหว่างนี้ยังต้องเจรจาเพื่อกำหนดแนวทางหรือกรอบข้อตกลงร่วมกันอย่างชัดเจนอีกครั้ง โดยทางการไทยกำลังจะพิจารณาคำขอต่อใบอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ของเหมืองทองคำชาตรี หลังจากที่ใบอนุญาตเดิมหมดอายุไปตั้งแต่สิ้นปี 2559 ที่ผ่านมา

 

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยในวันนี้ (28 ส.ค.2560) ว่า "ขณะนี้ยังไม่ทราบเรื่องที่ทางบริษัท คิงส์เกตฯ จากออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยจ่ายค่าชดเชยจากการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช.แก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นผู้ให้คำตอบ และเมื่อ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับแล้ว คณะกรรมการนโยบายแร่ (กนร.) จะเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ"

 

"สำหรับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ประกาศออกไปนั้น ถ้าอ่านในรายละเอียดจะเห็นว่าไม่มีอะไรที่ขัดกับข้อตกลงการค้าเลย เพราะไม่ได้สั่งให้ปิดเหมือง แต่ไม่ให้ต่อใบอนุญาตดำเนินการจนกว่า กนร.จะพิจารณาและมีมติเป็นอย่างอื่น และเวลาจะเปิดก็ไม่ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 เปิดใหม่ด้วย แต่หากในมาตรา 44 ไปบอกว่าปิดเหมืองเมื่อนั้นจึงจะขัดกับข้อตกลง" นายวิษณุ กล่าว

 

ขณะที่ทางด้าน นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงว่า "การใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 72/2559 เป็นการระงับการประกอบกิจการของเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศชั่วคราว และเป็นกฎหมายที่ออกมาคุ้มครองสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชน หลังจากมีการร้องเรียนและคัดค้านว่าการทำเหมืองแร่ทองคำก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน จนเกิดความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่โครงการทำเหมืองแร่ทองคำหลายแห่ง ซึ่งไม่ได้เป็นการยึดสิทธิ์การทำเหมืองของนักลงทุน แต่ระงับการต่อใบอนุญาตประกอบการ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าการทำเหมืองดังกล่าวกระทบต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนหรือไม่"

 

นายสมชาย ยังระบุด้วยว่า "เรื่องสิทธิการเรียกร้องค่าเสียหายนั้น เป็นสิทธิตามที่รัฐบาลไทยกับออสเตรเลียได้ตกลงกันในกรอบการค้าเสรี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา และยังไม่ได้ข้อยุติ ส่วนที่มีข่าวว่าไทยได้มีการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายให้กับทางคิงส์เกต 30,000 ล้านบาทนั้น ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง"

 

"ทั้งนี้ หากทางคิงส์เกตจะยื่นฟ้องอนุญาโตตุลาการ ก็อาจต้องใช้เวลานานในการดำเนินการ เชื่อว่าจะยังคงไม่สามารถยุติได้ง่าย และแม้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลียจะมีผลเหนือกฎหมายภายในประเทศของทั้งสองฝ่ายก็จริง แต่การพิจารณาจะใช้ระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ โดยพิจารณาเหตุผลและความจำเป็นในการดำเนินการของคู่ภาคีเป็นสำคัญ ซึ่งระหว่างนี้ทีมเจรจาของไทยก็ยังคงดำเนินการเจรจาต่อไปเพื่อหาข้อยุติที่เหมาะสมทั้งสองฝ่าย และเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด" นายสมชาย กล่าว