HOT

ไตรมาสแรก ยอดตั้งและขยายโรงงานดีขึ้น หวัง EEC ช่วยดันลงทุนเพิ่ม
POSTED ON 10/04/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า การขอใบอนุญาตประกอบกิจการ (ร.ง.4) และขยายกิจการในไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค. 2560) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,154 โรงงาน เพิ่มขึ้น 0.96% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีอยู่ 1,143 โรงงาน

 

โดยมีกิจการที่เปิดใหม่จำนวน 960 โรงงาน เพิ่มขึ้น 2.12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 940 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 49,900 ล้านบาท ลดลง 22.15% เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 64,100 ล้านบาท ส่วนการขยายกิจการมีจำนวนทั้งสิ้น 194 โรงงาน ลดลง 4.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 203 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 44,400 ล้านบาท ลดลง 12.94% เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 51,000 ล้านบาท ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนรวมอยู่ที่ 94,300 ล้านบาท ลดลง 17.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 115,000 ล้านบาท เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นกิจการรายเล็ก

 

สำหรับ 5 อุตสาหกรรมที่มีจำนวนการเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการที่มีมูลค่ามากที่สุดในไตรมาสแรกของปีนี้ ได้แก่

 

1.อุตสาหกรรมผลิตโลหะขั้นมูลฐาน มูลค่าการลงทุน 16,900 ล้านบาท

2.อุตสาหกรรมอาหาร มูลค่าการลงทุน 12,600 ล้านบาท

3.เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี มูลค่าการลงทุน 8,330 ล้านบาท

4.ผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์ รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ มูลค่าการลงทุน 7,500 ล้านบาท

5.ผลิตภัณฑ์พลาสติก มูลค่าการลงทุน 6,590 ล้านบาท

 

สำหรับการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ (ร.ง.4) และขยายกิจการในเดือน มี.ค. 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 456 โรงงาน ลดลง 2.14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 466 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 42,800 ล้านบาท ลดลง 1.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 43,600 ล้านบาท

 

โดยในเดือน มี.ค.2560 มีการเปิดกิจการใหม่จำนวน 377 โรงงาน ลดลง 3.33% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ 390 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 17,600 ล้านบาท ลดลง 26.05% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 23,800 ล้านบาท ส่วนการขยายกิจการมีจำนวนทั้งสิ้น 79 โรงงาน เพิ่มขึ้น 3.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 76 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 25,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 19,800 ล้านบาท

 

ด้าน นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาพรวมการขอใบอนุญาต ร.ง.4 อยู่ในเกณฑ์ที่ดีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป แม้ว่ามูลค่าจะลดลวงสวนทางกับจำนวนที่เพิ่มขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่านโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) จะช่วยหนุนให้เอกชนลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังมากขึ้น

 

ก่อนหน้านี้ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ได้ออกมาระบุถึงการร่วมหารือกับ นายเจฟฟรีย์ ดี.ไนการ์ด ประธานหอการค้าสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย พร้อมด้วยคณะนักลงทุนสหรัฐฯ โดยทางสหรัฐฯ ยืนยันว่า นักลงทุนสหรัฐฯที่อยู่ในไทยกว่า 700 บริษัท ซึ่งมีมูลค่าการค้าและการลงทุนรวมประมาณ 40,000 ล้านบาท พร้อมที่จะให้การสนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะในส่วนของอีอีซีนั้น บริษัทจากสหรัฐฯสนใจเข้ามาลงทุนหลายราย อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุตสาหกรรมเคมี และโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น

 

ขณะที่ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันเองก็ให้ความสนใจเข้ามารับการส่งเสริมเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอในพื้นที่ EEC และการลงทุนตามกรอบการส่งเสริมของ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งมีกองทุนส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา 10,000 ล้านบาท และให้การยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงสุด 15 ปี เนื่องจากทางซีเกทก็มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาบุคลากรในประเทศไทยอยู่แล้ว

 

ส่วนทางด้านไอบีเอ็ม ก็ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนด้านดิจิทัล เพราะที่ผ่านมาก็ได้มีความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในหลายโครงการ และได้แสดงความสนใจที่จะเข้าลงทุนในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอีอีซี (EECD)

 

แต่ภาคเอกชนสหรัฐฯ ยังมีความเป็นห่วงในเรื่องความต่อเนื่องของนโยบาย EEC เพราะการลงทุนตั้งโรงงานเป็นการลงทุนในระยะยาว จึงต้องการความมั่นใจในส่วนนี้เป็นพิเศษ ซึ่งต้องยืนยันให้ได้ว่าทุกรัฐบาลจะต้องเดินหน้าในโครงการอีอีซี เพราะมีการออกเป็นกฎหมายมาแล้ว

 

ขณะที่ทางด้านการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้มีการจัดเตรียมพื้นที่ใหม่เพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC จำนวน 10,000 ไร่ วงเงิน 15,000 ล้านบาท โดยทาง กนอ.จะเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากได้กำหนดให้เป็นนิคมฯ ร่วมพัฒนาระหว่าง กนอ.กับภาคเอกชน สัดส่วน 50-70%

 

โดยโครงการดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวนรวมทั้งสิ้น 50,000 ไร่  ซึ่งปัจจุบัน 40,000 ไร่ที่เหลือ แบ่งเป็น โครงการที่มีการพัฒนาแล้ว 15,000 ไร่ อยู่ระหว่างการพัฒนา 15,000 ไร่ และพัฒนาในรูปแบบสวนอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรมอีก 10,000 ไร่