HOT

ก.อุตฯ ประกาศขึ้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเครื่องจักร 20%
POSTED ON 27/03/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ล่าสุดได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ.2560 โดยยกเลิกกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งไม่ได้ปรับมาเป็นเวลา 28 ปีแล้ว โดยมีการกำหนดค่าธรรมเนียมใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและภาระต้นทุนการให้บริการที่ในอนาคตจะอนุญาตให้เอกชน (เติร์ดปาร์ตี้) เข้ามาช่วยตรวจสอบเครื่องจักร โดยก่อนออกกฎกระทรวงดังกล่าวได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มเรียบร้อยแล้ว

 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นทางเลือกของผู้ประกอบการที่ต้องการความรวดเร็ว โดยผู้ประกอบการสามารถแปลงเครื่องจักรที่ผ่านการจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์เพื่อนำไปขอกู้เงินจากธนาคารได้ โดยสามารถยื่นได้ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ทุกจังหวัด หรือกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ถ้าเอกสารครบถ้วน กระบวนการจะใช้เวลาไม่เกิน 10 วันทำการเท่านั้น จะสามารถนำเอาหลักฐานไปติดต่อกับธนาคารได้ทันที

 

“การให้เอกชนร่วมตรวจสอบ กระทรวงฯคาดว่าจะประกาศได้ภายในปี 2560 โดยระหว่างนี้ได้มีการอบรมหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงฉบับใหม่แล้ว เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ตรวจสอบเอกชน จำนวน 120 ราย ซึ่งเมื่อประกาศใช้จะได้ดำเนินการได้ทันที” นายสมชาย กล่าว

 

ตัวอย่างค่าธรรมเนียมใหม่ เช่น ค่าจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร สำหรับเครื่องจักรซึ่งมีมูลค่าเกิน 500,000 บาท คิดเครื่องละ 750 บาท ถ้าจดทะเบียนหลายเครื่อง จัดเก็บสูงสุดไม่เกินเพดาน 12,000 บาท (จากเดิมเครื่องละ 500 บาท หลายเครื่องเก็บสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท) ค่าจดทะเบียนการจำนองหรือขายฝากเครื่องจักร คิด 1,000 ละ 1 ของจำนวนเงินที่จำนองหรือขายฝาก สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท (จากเดิม 100,000 บาท) ค่าจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรเครื่องละ 100 บาท หากมีหลายเครื่องในคราวเดียว ไม่เกิน 2,000 บาท (จากเดิมคิดต่อเล่ม เล่มละ 100 บาท) เป็นต้น

      

“ปัจจุบันโรงงานในไทยมีเครื่องจักรถึง 10 ล้านเครื่อง แต่มีการจดทะเบียนจำนองเครื่องจักรไปได้เพียง 9 แสนเครื่อง วงเงิน 5.8 ล้านล้านบาทเท่านั้น โดยในวงเงินจำนวนนี้เป็นเครื่องจักรของผู้ประกอบการรายใหญ่ 80% และเป็นของเอสเอ็มอีเพียง 20% เท่านั้น ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนให้เอสเอ็มอีนำเครื่องจักรในโรงงานมาจดทะเบียน เพื่อเป็นหลักทรัพย์ในการขอสินเชื่อ โดยเครื่องจักรก็ยังสามารถใช้ในการผลิตได้ตามปกติเหมือนเดิม” นายสมชาย กล่าว

 

สำหรับในปีงบประมาณ 2559 มียอดจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร 1,681 ราย จำนวน 9,402 เครื่อง ยอดจดทะเบียนจำนองเครื่องจักร 892 ราย จำนวน 13,543 เครื่อง โดยมีวงเงินจำนอง 739,962 ล้านบาท ขณะที่ในปีงบประมาณ 2560 ผ่านมา 5 เดือนมียอดจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร 489 ราย จำนวน 2,545 เครื่อง ยอดจดทะเบียนจำนองเครื่องจักร 117 ราย 2,369 เครื่อง วงเงินจำนอง 120,949 ล้านบาท