HOT

ก.อุตฯ เร่งดันแผนพัฒนารถยนต์ EV และหุ่นยนต์ มูลค่าลงทุนรวมกว่าแสนล้านบาท
POSTED ON 10/03/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ภายในเดือน มี.ค.2560 นี้ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เตรียมเสนอแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายระยะเร่งด่วนภายในปี 2560 และแผน 20 ปี  (พ.ศ.2559-2579) ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จำนวน 2 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งทาง สศอ.ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดทำรายละเอียดอย่างรอบด้านแล้ว โดยมูลค่าการลงทุนของทั้ง 2 อุตสาหกรรมรวมกันไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

 

สำหรับรายละเอียดของแผนส่งเสริมของอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตนั้น จะพิจารณาข้อมูลทั้งปริมาณการผลิตรถยนต์หลักที่สำคัญ คือ รถยนต์สะอาด ปล่อยมลพิษน้อย ดังนั้น การผลิตจะครอบคลุมรถยนต์เชื้อเพลิงหลายชนิด อาทิ รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้า (EV) รถยนต์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และความต้องการใช้ในอนาคต ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องการให้รถยนต์ไฟฟ้าเกิดโดยเร็ว ซึ่งคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยตลาดนำร่องจะมาจากการใช้ของภาครัฐ และในแผนจะเสนอเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อรองรับการใช้งานในอนาคตด้วย

 

ขณะที่การกำหนดสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจภาคเอกชนให้ลงทุนนั้น ทางบีโอไอกำลังอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด ซึ่งรูปแบบจะคล้ายกับการลงทุนอีโคคาร์ โดยจะมีการกำหนดวงเงินลงทุนและกำหนดค่ามาตรฐานการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อให้เสียภาษี สรรพสามิตในอัตราที่ถูกลง และสรรพากรจะกำหนดอัตราภาษีนำเข้าที่เหมาะสมด้วย

 

ส่วนแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์อัจฉริยะนั้น จะเน้นส่งเสริมผู้ผลิตแผงวงจรสมองกลแบบฝังในตัวผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมและการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตสินค้าเอสเอ็มอีในกลุ่มนี้กว่า 100 ราย ซึ่งด้วยกำลังผลิตที่ค่อนข้างน้อยจึงไม่เข้าเกณฑ์ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม (รง.4) จึงขาดโอกาสในการขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ

 

ดังนั้น ในแผนส่งเสริมที่เตรียมเสนอ ครม.จึงได้เสนอให้มีการกำหนดหน่วยงานอิสระขึ้นมา เพื่อรับรองผลงานผลิตของผู้ประกอบการ พร้อมทั้งส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมและผู้บริโภคนำอุปกรณ์ดังกล่าวไปใช้ โดยอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แต่ใช้เงินลงทุนไม่มาก แต่เชื่อว่าหากอุตสาหกรรมของไทยและประชาชนมีความต้องการใช้มากขึ้น จะเกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของประเทศ

 

สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายอีก 6 กลุ่ม ซึ่งได้แก่ อาหารเฉพาะทาง สิ่งทอและไลฟ์สไตล์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เครื่องมือการแพทย์ ดิจิทัล และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้น ใน 4 กลุ่มแรกทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ภายในเดือน เม.ย.2560 นี้ ส่วนอีก 2 กลุ่มที่เหลือ จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงดิจิทัลฯ และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จัดทำแผนและเสนอ ครม.ต่อไป