HOT

ครม.เห็นชอบหนุนพัฒนาไทยสู่ฮับอุตฯอากาศยาน
POSTED ON 16/02/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งอุตสาหกรรมอากาศยานนี้ถือเป็น 1 ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยที่รัฐบาลมุ่งให้การส่งเสริมและสนับสนุนโดยจะเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมากในอนาคต

 

สำหรับตลาดอุตสาหกรรมอากาศยานในช่วง พ.ศ.2556-2578 นั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากคำสั่งซื้อส่วนใหญ่ที่มาจากอเมริกาเหนือและยุโรป กลายมาเป็นคำสั่งซื้อจากเอเชียแปซิฟิกแทน ดังนั้น ในอนาคตตลาดอุตสาหกรรมอากาศยานในเอเชียแปซิฟิกจึงมีโอกาสเติบโตขึ้นอีกมาก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการย้ายฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม รวมถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำในภูมิภาค

 

จากผลการศึกษาของกระทรวงคมนาคม พบว่า กิจกรรมที่มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาสำหรับประเทศไทยจากการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบิน มี 3 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่ (1) กิจกรรมซ่อมบำรุง (MRO) (2) กิจกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (OEM) และ (3) กิจกรรมพัฒนาบุคลากรด้านการบิน (HR) ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้นำเสนอออกมาเป็นแผนพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงและอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ระยะ 15 ปี (พ.ศ.2560-2575) ภายใต้วิสัยทัศน์การมุ่งสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมการบินและศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคอาเซียน

 

ระยะที่ 1 (พ.ศ.2560-2564) จะมีการจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในประเทศไทย เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการและประเภทของการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมอากาศยาน สร้างบุคลากร รวมทั้งปรับปรุงหลักสูตรการผลิตช่างและวิศวกรอากาศยาน

 

ระยะที่ 2 (พ.ศ.2565-2569) จะมีการจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อการซ่อมบำรุงภายในประเทศ จัดกลุ่มอุตสาหกรรม (คลัสเตอร์) ให้ครบทุกประเภทอุตสาหกรรมอากาศยานตามแผนธุรกิจ และสร้างช่างเทคนิครวมทั้งวิศวกรอากาศยานให้เพียงพอต่อความต้องการ

 

ระยะที่ 3 (พ.ศ.2570-2575) จะมีการจัดตั้ง Aeropolis เพื่อรองรับการซ่อมบำรุงเครื่องบินของภูมิภาค ยกระดับความสามารถในการผลิตอุตสาหกรรมอากาศยานเข้าสู่ Tier 2 (Design & Build) และการพัฒนาบุคลากรด้านการบินจนสามารถเข้าสู่การเป็น Research & Institutions ได้

 

จากแผนดังกล่าวมีการประเมินว่าจะช่วยสร้างผลตอบแทนให้แก่เศรษฐกิจไทยได้กว่า 10,000 ล้านบาท สามารถประหยัดเงินตราต่างประเทศในการส่งซ่อมเครื่องบินได้ถึงปีละ 6,500 ล้านบาท และยังสามารถช่วยสร้างงานได้เกือบ 7,500 ตำแหน่ง ถ้าเกิดมีสายการบินใหญ่ ๆ มาตั้งศูนย์ซ่อมในไทย ก็จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นและสร้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกโครงการที่พลิกโฉมประเทศไทย และเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตให้แก่ประเทศไทย