HOT

EA โว เตรียมร่วมทุนบริษัทจีน-ไต้หวัน ตั้งโรงงานผลิตแบตฯลิเทียมใหญ่สุดของโลกในไทย
POSTED ON 21/04/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า บริษัทฯ ร่วมกับ บริษัท Shenzen Growatt New Energy Technology ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าจากประเทศจีน และ บริษัท Amita Technologies ผู้ผลิตแบตเตอรี่จากประเทศไต้หวัน เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในไทย โดยมีแผนลงทุน 5 ปี โลก เงินลงทุน 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มดำเนินการผลิตในปี 2561 โดยกำลังผลิตเริ่มต้นอยู่ที่ 1 Gigawatt hours (GWh) ต่อปี หลังจากนั้นจะทยอยลงทุนเฟส 2 เพิ่มกำลังผลิตเป็น 50 GWh ต่อปี และนั่นจะทำให้โรงงานแห่งนี้กลายเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะใหญ่กว่าโรงงานของ Tesla ที่มีกำลังการผลิต 25 GWh ต่อปี

 

ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้พื้นที่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม New S-Curve บริเวณพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อตั้งโรงงานผลิต โดยภายในปีนี้บริษัทฯ จะเริ่มก่อสร้างเฟสที่ 1 กำลังการผลิต 1 GWh มูลค่าเงินลงทุน 3,000 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและรับรู้รายได้ทันทีภายในปี 2561 ส่วนการลงทุนในเฟสที่ 2 นั้น หากเฟส 1 ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีก็คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างเฟส 2 ได้ภายในปี 2561 และสามารถดำเนินการผลิตได้ภายในปี 2563

 

สำหรับงบลงทุนนั้น นายสมโภชน์ เปิดเผยว่า ในโครงการดังกล่าวจะใช้งบลงทุนของบริษัทฯ ส่วนหนึ่ง และจากพันธมิตรร่วมทุนอีกส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังไม่สามารถประเมินรายได้ของธุรกิจแบตเตอรี่ได้ เนื่องจากขึ้นอยู่กับสถานการณ์ตลาดและวัตถุดิบในขณะนั้นด้วย ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าหากสามารถดำเนินการได้ครบ 50 GWh ตามแผนที่วางไว้ ก็เชื่อว่าจะสามารถผลักดันสัดส่วนรายได้ธุรกิจแบตเตอรี่มากกว่า 50% ของรายได้รวมทั้งหมด

 

ด้าน นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ร่วมกับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คัดเลือกโครงการเป้าหมายที่มีความสำเร็จสูงเป็นฐานพัฒนาอุตสาหกรรม New S-Curve และ First S-Curve เป็นโครงการนำร่อง โดยเริ่มต้นจากอุตสาหกรรมสำรองไฟฟ้า หรือ Energy Storage หากมีการส่งเสริมจากภาครัฐเต็มระบบ คาดว่าภายใน 5 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่ามากขึ้นถึง 10 เท่า และมีขนาดตลาดประมาณ 500,000 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดตลาดแบตเตอรี่ในไทยที่มีประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถสร้างจีดีพีในสัดส่วน 3.6% ของจีดีพีประเทศ

      

โดยอุตสาหกรรมหลักในตลาดที่มารองรับ ได้แก่ (1) ระบบสำรองไฟฟ้าสำหรับระบบกักเก็บไฟฟ้าของประเทศ Generation Unit และ Distribution รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อความเสถียรของระบบไฟฟ้าของประเทศ และใช้ในช่วงความต้องการไฟฟ้าสูง (2) ระบบสำรองไฟฟ้าที่ใช้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าประเภท Hybrid Electric Vehicle (HEV), Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) Battery Electric Vehicle (BEV) และอื่น ๆ และ (3) ระบบสำรองไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรมประเภทอุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สำหรับโทรศัพท์มือถือ และอื่น ๆ