HOT

จีนรับซื้อยางไม่อั้น หลายฝ่ายชี้ราคายางอาจแตะ 100 บาท/กก.
POSTED ON 17/01/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักร, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

ข่าวอุตสาหกรรม – ประชาติธุรกิจ รายงานข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ต่อกรณีที่ นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมชาวสวนยางกระบี่และที่ปรึกษาสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผย ราคายางมีโอกาสสูงที่จะพุ่งขึ้นถึงกิโลกรัมละ 100 บาท จากราคาล่าสุดวันที่ 12 ม.ค. 2560 ที่ผ่านมา ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ประมูลที่ตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ จ.สงขลา อยู่ที่กิโลกรัมละ 85 บาทเศษ เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกมีสูงมาก แต่เมื่อไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านไทยประสบภัยธรรมชาติ คาดว่าผลผลิตยางของไทยปี 2560 นี้จะลดลงประมาณ 5-7 แสนตันต่อปี เหลือประมาณ 3.5-3.7 ล้านตันต่อปี เพราะไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ประสบปัญหาหนักมากจากเหตุการณ์น้ำท่วม

 

รวมทั้งสวนยางพาราขนาดใหญ่ในภาคใต้ 50-70% ขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากช่วงราคายางเหลือกิโลกรัมละ 30 บาทเศษ แรงงานกรีดยางที่มีฝีมือมีรายได้ไม่ถึงวันละ 300 บาท จึงย้ายไปทำงานประเภทอื่นแทน

 

นอกจากนี้ ประเทศผู้ซื้อรายใหญ่คือจีนมีความต้องการยางสูงมาก เพราะต้องเร่งผลิตยางล้อรถยนต์ส่งเข้าสหรัฐอเมริกา เนื่องจากกังวลว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จะเก็บภาษีนำเข้า 10% ตามที่หาเสียงไว้ และก่อนหน้านั้นจีนชะล่าใจ จะมาซื้อยางไทยในเดือน ธ.ค.2559 ถึง ก.พ.2560 ที่ผลผลิตยางออกมาก เพื่อนำไปผลิตและทดแทนสต็อกที่ลดลง แต่เมื่อไทยและประเทศผู้ปลูกยางในอาเซียนประสบภัยน้ำท่วม จึงเกิดปัญหาและไล่ราคาซื้อยางสูงขึ้น

 

แม้แต่ตลาดโตคอม ตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าของญี่ปุ่นราคาซื้อวันที่ 12 ม.ค.2560 ที่ผ่านมา ภายในวันเดียวราคาพุ่งขึ้นถึง 10 เยนต่อกิโลกรัม ซึ่งไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้มาตั้งแต่ปี 2554 อย่างไรก็ตาม ราคาที่พุ่งสูงในช่วงนี้ ชาวสวนยางไทยอย่าแห่ปลูกกันอีก เพราะราคาที่ขึ้นแรง เวลาลงอาจลงแรงได้เช่นกัน

 

ด้าน นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ที่ส่งผลให้พื้นที่สวนยางได้รับความเสียหายประมาณ 700,000 ไร่ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถออกไปกรีดยางได้ ส่งผลให้ผลผลิตยางพาราหายจากตลาดประมาณ 8% ในขณะที่ความต้องการยังมีอย่างต่อเนื่อง ราคายางจึงปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งหลังจากน้ำลดจำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูสวนยางกันใหม่หมด

 

ส่วนยางในสต๊อก 300,000 ตันที่จะเปิดประมูลขายในวันที่ 17-18 ม.ค.2560 นั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกันโดยสิ้นเชิง เนื่องอยู่กันคนละตลาด ราคาจะต่างกันอยู่แล้วระหว่างยางเก่ากับยางใหม่ โดยศาลก็พิจารณาแล้ว น่าจะเข้าใจกันร่วมกันดีแล้ว ซึ่งยางเก่าต้องใช้เทคนิคการปรับสภาพอีกมาก ก่อนที่จะนำไปใช้ และยาง 300,000 ตันก็เป็นปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับตลาดยางของโลกที่มีปีละ 12-13 ล้านตัน อีกทั้ง กยท.ใช้วิธีระบายครั้งละล็อต ปริมาณไม่มาก เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ดังนั้น จึงคาดว่าการระบายยางครั้งนี้จะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย

 

ด้าน นายเชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า จากการประเมินเบื้องต้นสวนยางน่าจะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม 7-8 แสนไร่ จากพื้นที่ปลูกทั้งหมดทั่วประเทศ 11 ล้านไร่ เพราะจะเสียหายเฉพาะที่ราบที่น้ำท่วมถึง ที่น่าห่วงคือสวนยางที่ถูกน้ำท่วมนาน 2 สัปดาห์ขึ้นไปจะได้รับผลกระทบ เกิดใบร่วงหรือมีการผลัดใบก่อนฤดูกาลตามธรรมชาติ อาจต้องใช้เวลา 2-3 เดือนฟื้นฟู จะส่งผลให้ผลผลิตยางปีนี้มีลดน้อยลง

 

ส่วนเรื่องราคายางนั้นชี้ไม่ได้ชัดเจนว่าจะขยับขึ้นถึง 100 บาทต่อกิโลกรัมหรือไม่ แต่แนวโน้มราคามีโอกาสขยับขึ้นอีก จากปัจจัยน้ำท่วม ผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการยางในตลาดโลกเวลานี้มีเพิ่มขึ้น ทำให้ราคายางในตลาดกลางยางพาราปรับขึ้นตั้งแต่สัปดาห์แรกที่เปิดทำการหลังเทศกาลปีใหม่ โดยขยับขึ้นต่อเนื่องวันละ 1-2 บาทหลายวันติดต่อกัน

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ