HOT

ลูกจ้างเฮ-นายจ้างโอด 1 ม.ค.ปีหน้าเตรียมปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ
POSTED ON 24/11/2559


ข่าวอุตสาหกรรม 24 พ.ย.2559 - นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้าง ประจำปี 2560 รวม 69 จังหวัด ซึ่งถือเป็นการปรับค่าจ้างขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัดในประเทศไทยเป็น 300 บาท เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2556 โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560 เป็นต้นไป

 

ทั้งนี้ มีจังหวัดที่ได้รับการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำระหว่าง 5-10 บาท จำนวนทั้งสิ้น 69 จังหวัด โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่  

 

กลุ่มที่ 1 จังหวัดที่ไม่มีการปรับค่าจ้างแรงงาน โดยคงค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่ 300 บาทต่อวัน จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี ยะลา

 

กลุ่มที่ 2 จังหวัดที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 10 บาทต่อวัน มีจำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ภูเก็ต

 

กลุ่มที่ 3 จังหวัดที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 8 บาทต่อวัน มีจำนวน 13 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ สระบุรี ฉะเชิงเทรา กระบี่ พังงา อยุธยา

 

กลุ่มที่ 4 จังหวัดที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 5 บาทต่อวัน มีจำนวน 49 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี พัทลุง สตูล กำแพงเพชร พิจิตร แพร่ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ชัยนาท ลพบุรี นครนายก สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม จันทบุรี ตราด ลำพูน พะเยา สุโขทัย อุตรดิตถ์ บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี อ่างทอง เลย หนองบัวลำภู มุกดาหาร ยโสธร เชียงราย พิษณุโลก อุดรธานี ชัยภูมิ ศรีษะเกษ นครสวรรค์ และ หนองคาย

 

ขณะที่ทางด้านไทยพับลิก้า ได้เผยแพร่บทความจากงานวิจัยของ นายดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ เกี่ยวกับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน 300 บาท เมื่อ 4 ปีก่อน โดยผลวิเคราะห์บางส่วนชี้ให้เห็นว่า กิจการภาคเอกชนได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งการจ้างงานโดยรวมในกิจการเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบอย่างมากจากนโยบายนี้ โดยค่าความยืดหยุ่นสะสม 6 ไตรมาสหลังจากการบังคับใช้นโยบายมีค่าสูงถึง -0.52 และ -0.47 ตามลำดับ

 

แต่ในทางตรงกันข้าม ผลของนโยบายดังกล่าวกลับทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งอาจสะท้อนถึงความสามารถของธุรกิจขนาดใหญ่ในการจ่ายค่าแรงในอัตราที่สูงกว่าตลาด และการขาดแคลนแรงงานในช่วงก่อนมีการบังคับใช้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

 

ขณะที่แรงงานหนุ่มสาวที่มีทักษะต่ำนั้น ผลของนโยบายทำให้มีการลดการจ้างงานของแรงงานกลุ่มนี้ลง โดยเฉพาะที่เกิดจากสถานประกอบการเอสเอ็มอี และกิจการขนาดใหญ่ ซึ่งมีความรุนแรงเป็นพิเศษ ในส่วนของธุรกิจเอสเอ็มอี

 

โดยงานวิจัยของนายดิลกะยังชี้ชัดว่า แรงงานไทยกว่าร้อยละ 60 ที่ทำงานในธุรกิจเอสเอ็มอีนั้นได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนดตามกฎหมาย (ข้อมูลปี 2013) นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นของกิจการขนาดใหญ่นั้นเกิดจากการที่นายจ้างปรับโครงสร้างปัจจัยการผลิต โดยหันมาจ้างแรงงานที่มีประสบการณ์สูง และแรงงานที่มีการศึกษาสูงเพื่อมาทดแทนแรงงานหนุ่มสาวที่มีการศึกษาในระดับมัธยมหรือต่ำกว่า ในสภาวะที่โครงสร้างค่าจ้างของประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics