HOT

พาณิชย์ ยัน ออกมาตรการเซฟการ์ดเหล็ก H-Beam ตามคำร้องของ SYS ถือว่าเหมาะสม
POSTED ON 07/02/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

ข่าวอุตสาหกรรม - เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2560 ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้อง (คปป.) มีมติให้ใช้มาตรการเซฟการ์ด ตามคำร้องของบริษัท เหล็กสยาม ยามาโตะ จำกัด (Siam Yamato Steel - SYS) โดยเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กรูปพรรณรีดร้อนเจืออัลลอย หน้าตัดรูปตัว H เป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค.2560 ไปจนถึงวันที่ 27 ม.ค.2562 โดยได้มีการกำหนดอัตราภาษีปีที่ 1 ให้คิด 31.43% ของราคา C.I.F. และปีที่ 2 คิด 31.05% ของราคา C.I.F.

 

ทั้งนี้ จากมติข้างต้นส่งผลให้ บริษัท พี.อาร์.บางบอนสตีล 5 จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้าเหล็กดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน จึงมีหนังสือร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการอุทธรณ์ และทบทวนมาตรการดังกล่าว

 

ล่าสุด นายวันชัย วราวิทย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าเหล็ก H-Beam เจืออัลลอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2557 โดยมีส่วนแบ่งตลาด 1.78% เพิ่มเป็น 9.16% ในปี 2558 และนำเข้าเพิ่มขึ้นปีละกว่า 300% โดยนำเข้าในราคาที่ต่ำมาก ซึ่งกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ และจากการพิจารณาของ คปป. ก็พบว่า บริษัท เหล็กสยาม ยามาโตะ จำกัด ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าเหล็กประเภทดังกล่าวจริง จึงเป็นสิทธิตาม พ.ร.บ.มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ.2550 ที่จะได้รับการปกป้อง ดังนั้น ทางกรมฯจึงยืนยันที่จะใช้มาตรการเซฟการ์ดสำหรับเล็กประเภทดังกล่าวต่อไป แม้จะมีผู้ร้องเรียนคัดค้านเข้ามาก็ตาม และจะนำเรื่องนี้สรุปรายงานต่อนายกรัฐมนตรีให้รับทราบในลำดับถัดไป

 

ส่วนการที่บริษัท เหล็กสยาม ยามาโตะ จำกัด มีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติถึง 90% และมีบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นเพียง 10% นั้น ตาม พ.ร.บ.เซฟการ์ด จะใช้หลักเกณฑ์เดียวกันในการพิจารณา ไม่ว่าผู้ผลิตสินค้าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติก็ตาม ขณะที่การกล่าวหาว่า บริษัท เหล็กสยาม ยามาโตะ จำกัด เข้าข่ายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด เพราะส่วนแบ่งตลาดสูง และมีกำไรเกิน 1,000 ล้านบาทต่อปีนั้น จากการตรวจสอบยืนยันว่า ไม่พบการผูกขาดตามมาตรา 25 ของ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 แต่อย่างใด