HOT

กพร.บี้ฟ้องแพ่ง-อาญา ?ทีพีไอ โพลีน? เหตุทำเหมืองนอกเขตที่ได้รับอนุญาต
POSTED ON 27/04/2559


ข่าวอุตสาหกรรม 27 เม.ย.2559 - นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า กพร.ได้แจ้งความดำเนินคดีกับบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ต่อกองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2557 ทั้งทางแพ่งและอาญารวม 5 คดี เป็นคดีอาญา 2 คดี อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน เพื่อเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการ และเป็นคดีแพ่ง 3 คดี ซึ่งได้ฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายรวม 6,337 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการในชั้นศาล

 

สำหรับคดีดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557 หลังจากมีผู้ร้องเรียนว่าบริษัท ทีพีไอฯ ทำเหมืองหินปูนนอกเขตพื้นที่ประทานบัตร ที่ จ.สระบุรี และเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐหลายภาคส่วนได้ลงพื้นที่ตรวจสอบหลักฐานและพบว่ามีการกระทำผิดจริง ทาง กพร.จึงได้มีการแจ้งความดำเนินคดีต่อกรณีดังกล่าว เพื่อเรียกค่าเสียหายกับทางบริษัทฯตามคดีแพ่งที่ 776/2558 ของศาลจังหวัดสระบุรี กรณีลักลอบทำเหมืองในพื้นที่คำขอประทานบัตรของบริษัทฯ คิดเป็นค่าเสียหายจำนวน 4,338 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.2557

 

หลังจากนั้นในปี 2558 เจ้าหน้าที่ของ กพร.พบอีกว่า บริษัท ทีพีไอฯ ยังคงกระทำความผิดซ้ำในพื้นที่คำขอประทานบัตรเดิม และทำเหมืองในเขตพื้นที่ห้ามทำเหมืองในเขตประทานบัตรของบริษัทฯ จึงได้มีการแจ้งความดำเนินคดีอาญาเพิ่มอีก 1 คดี และดำเนินคดีแพ่งเพิ่ม 2 คดี คือ คดีแพ่งที่ 287/2559 กรณี บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ทำเหมืองซ้ำในพื้นที่คำขอประทานบัตรเดิมอีก คิดเป็นค่าเสียหาย 327 ล้านบาท และคดีแพ่งที่ 288/2559 กรณีทำเหมืองในเขตพื้นที่ห้ามทำเหมือง (บัฟเฟอร์ โซน) ในเขตประทานบัตรของบริษัทฯ เนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ คิดเป็นค่าเสียหาย 1,671 ล้านบาท

 

ขณะที่ทางด้าน ทีพีไอ โพลีน ได้ชี้แจงต่อ กพร.ว่า การทำเหมืองหินปูนในปี 2557 ที่ระบุว่าอยู่นอกพื้นที่ประทานบัตรใกล้ๆ พื้นที่ของบริษัทฯนั้น ไม่ใช่พื้นที่ของทีพีไอ โพลีน ก็จริง แต่เป็นที่ดินของบุคคลใดไม่ทราบ ส่วนการทำเหมืองในปี 2558 ที่อยู่ในเขตบัฟเฟอร์โซนนั้น บริษัทฯได้รับประทานบัตรจาก กพร. จึงคิดว่าสามารถดำเนินการขุดเจาะหาแหล่งหินปูนได้

 

โดยทาง กพร.ยืนยันว่า คำชี้แจงดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทางทีพีไอฯสามารถนำไปชี้แจงทั้งต่อ กพร.หรือศาลได้ แต่ข้อมูลทั้งหมดต้องพิสูจน์กันในชั้นศาลต่อไป และ กพร.ก็มั่นใจว่ามีหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอ และยืนยันว่าไม่ได้กลั่นแกล้งบริษัทฯ แต่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหน้าที่ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของภาครัฐ และหากการฟ้องร้องชนะ ค่าเสียหายที่ได้รับมาก็ต้องถูกส่งเข้าเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป

 

ล่าสุด นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ กพร.ทั่วประเทศ ออกตรวจสอบพื้นที่เหมืองแร่ทุกชนิดและทุกเหมืองทั่วประเทศว่ามีการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าวข้างต้นอีกหรือไม่ หากตรวจพบว่ามีการกระทำผิด กพร.ก็ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.แร่ โดยหากผู้ได้รับประทานบัตรประกอบการเหมืองแร่กระทำผิดทางอาญา ต้องมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 ปี ซึ่งถือว่าน้อยมาก เพราะเป็นกฎหมายที่ใช้มานานหลายสิบปีแล้ว โดยขณะนี้ กพร.กำลังเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.แร่ เพื่อเพิ่มบทลงโทษให้มากขึ้น

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics