HOT

อุตฯเร่งเตรียมน้ำสำรองให้โรงงานผลิต รับภัยแล้งปีนี้
POSTED ON 02/02/2559


ข่าวอุตสาหกรรม 2 ก.พ.2559 - นสพ.มติชน รายงานข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ต่อกรณีที่ผู้บริหารบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี แสดงความกังวลต่อปัญหาภัยแล้งในปีนี้ที่อาจจะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมนั้น นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ออกมาระบุถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่า "ปัจจุบัน กรอ.กำลังเร่งวางแผนรับมือ ทั้งการหารือกับโรงงานที่มีความเสี่ยง เพื่อวางแผนป้องกันปัญหา โดยในเร็วๆ นี้จะเสนอแผนรับมือขั้นสองที่จะต้องประหยัดน้ำภายในโรงงานให้ได้ 5-10% ต่อ รมว.อุตสาหกรรม เพื่อพิจารณา โดยก่อนหน้านี้ กรอ.ได้นำเสนอแผนดำเนินการขั้นแรกและรายชื่อโรงงานที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาภัยแล้งไปแล้วเมื่อเดือน ธ.ค.2558 ที่ผ่านมา"

 

อุตสาหกรรมกระดาษถือเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำจำนวนมาก ปัจจุบันมีโรงงานผลิตกระดาษทั่วประเทศประมาณ 74 โรง โดยในพื้นที่ภาคอีสานมีบริษัทในเครือเอสซีจี คือ บริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น นอกจากนี้ ยังมีโรงงานของบริษัท รัฐประชา กระดาษคราฟท์ จำกัด อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น ซึ่งทั้ง 2 โรงงานเดินเครื่องผลิตแล้ว และ บริษัท ขอนแก่นกระดาษคราฟท์ จำกัด อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ที่ได้ใบอนุญาตประกอบกิจการ (ร.ง.4) แล้ว แต่ยังไม่แจ้งประกอบกิจการ ดังนั้น หากโรงงานเหล่านี้ขาดแคลนน้ำจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการผลิต

         

ด้าน นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า คาดว่าปีนี้จะเกิดภาวะแล้งมากกว่าปี 2558 เนื่องจากปริมาณฝนทิ้งช่วง ทำให้แม่น้ำสายหลักที่ป้อนน้ำเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณน้ำน้อยกว่าทุกปี โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากใช้น้ำจากแม่น้ำกวง ซึ่งรับน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำแม่งัดที่ปัจจุบันเหลือปริมาณน้ำในอ่างไม่ถึง 20% หรือมีน้ำเพียง 400,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น ขณะที่นิคมฯดังกล่าวจะใช้น้ำสูงกว่า 60,000  ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากจำนวนสถานประกอบการ 75 แห่ง

 

ล่าสุด กนอ.ได้เตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งสำหรับนิคมฯภาคเหนือด้วยการสูบน้ำดิบจากแม่กวงวันละ 10,000  ล้านลูกบาศก์เมตร โดยคาดว่าสูบได้ถึงสิ้นเดือน ม.ค.2559 และเริ่มใช้ระบบนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วมาเก็บไว้ในอ่างน้ำดิบ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน รวมทั้งจะมีการขุดบ่อบาดาล 1 บ่อ และจะทำสัญญาซื้อน้ำดิบจากบ่อเอกชนในบริเวณใกล้เคียง ปริมาณรวม 300,000 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำดิบให้นิคมฯภายในวันที่ 15 ก.พ.2559

 

ส่วนการดูแลนิคมฯทั่วประเทศนั้น ทาง กนอ.ได้เตรียม 3 มาตรการรับมือ คือ (1) การนำน้ำที่ใช้แล้วมาใช้ใหม่ หรือ รีไซเคิล (2) การจัดหาแหล่งน้ำบาดาลสำรอง และ (3) มาตรการการนำน้ำจากแหล่งพื้นที่ใกล้เคียงมาเสริมให้กับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน

 

ที่มา : นสพ.มติชน

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics