HOT

โรงงานผลิตภาคกลาง-อีสาน เตรียมรับมือภัยแล้งหนักปีนี้
POSTED ON 25/01/2559


ข่าวอุตสาหกรรม 25 ม.ค.2559 - รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ ณ วันที่ 25 ม.ค.2559 มีปริมาณน้ำใช้การได้จริง 14,879 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 21% โดย 4 เขื่อนหลักที่ระบายน้ำเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อ่างเก็บน้ำในเขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้จริง 1,002, 1,732, 319 และ 463 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ ซึ่งรวมกันได้แค่ 3,516 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น จึงมีการประเมินว่าในปีนี้ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอาจต้องเผชิญกับสภาวะภัยแล้ง

 

ส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) มีปริมาณน้ำใช้การได้จริงทั้งภาคเหลือแค่ 1,900 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 23% ซึ่งจากปริมาณน้ำดังกล่าวประเมินว่าในปีนี้ภาคอีสานก็จะเผชิญกับภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรงเช่นกัน

 

ด้านกรมชลประทานยังคงยืนยันว่า การใช้น้ำของประเทศยังเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ โดยลุ่มน้ำเจ้าพระยาใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลักตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2558 ถึงต้นเดือน ม.ค.2559 มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,011 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 35% ของแผนจัดสรรน้ำ 2,900 ล้านลูกบาศก์เมตร คงเหลือน้ำใช้ตามแผนไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย.2559 ซึ่งถือเป็นสิ้นสุดฤดูแล้งเข้าสู่ฤดูฝน 1,889 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ไม่มีการการันตีว่าฝนจะต้องตกในต้นเดือน พ.ค.2559 หากฝนมาล่าช้าก็จะเกิดการขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคและบริโภคอย่างแน่นอน

 

นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า "ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ประเมินสถานการณ์และเตรียมแผนรับมือเพื่อช่วยเหลือโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ทั้งแนะนำการขุดบ่อบาดาล คุมการปล่อยน้ำทิ้ง และการนำน้ำกลับมารีไซเคิลใช้ใหม่ อีกทั้งยังเร่งให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ดำเนินการตามนโยบายนำขุมเหมืองเก่าใช้เป็นแหล่งเก็บน้ำ 36 แห่ง"

 

ด้าน นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า "ได้แจ้งให้สมาชิกในพื้นที่ 22 จังหวัดที่มีการประกาศพื้นที่ภัยแล้งให้แจ้งกลับมายัง ส.อ.ท.ว่ามีปัญหาการใช้น้ำภายในโรงงานหรือไม่ นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาโรงงานมักจะติดตั้งระบบรีไซเคิลน้ำมากขึ้น เห็นได้ชัดเจนว่ามีปริมาณการใช้น้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอและฟอกย้อม"

 

ขณะที่ทางด้าน นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า "นิคมอุตสาหกรรมลำพูนได้ใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท ในการขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้แล้ว 20 บ่อ และเตรียมงบประมาณไว้ซื้อน้ำจากภาคเอกชน 1 รายที่ยื่นเสนอขายน้ำให้ในปริมาณ 400,000 ลูกบาศก์เมตร"

 

นายชัยณรงค์ เทียนชัยกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า โรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดนครปฐมส่วนใหญ่ใช้น้ำน้อย เชื่อว่าหากเกิดปัญหาภัยแล้งหรือขาดแคลนน้ำที่จะนำมาใช้ในไลน์ผลิตจริง ก็จะได้รับผลกระทบไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้แจ้งให้ผู้ประกอบการเตรียมรับมือแล้วหากเกิดกรณีฉุกเฉินให้ดึงน้ำจากแม่น้ำนครชัยศรีมาใช้ เพราะมั่นใจว่าจะเพียงพอและสามารถรับมือภัยแล้งปีนี้ได้

 

นายสามารถ อังวราวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า "ปัญหาภัยแล้งในจังหวัดขอนแก่นยังไม่น่าเป็นห่วง แม้ว่าขอนแก่นจะเป็นจังหวัดที่มีโรงงานจำนวนมากเป็นลำดับต้นๆ ของภาคอีสาน แต่โรงงานส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำน้อย และเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมมากนัก" สอดคล้องกับ นายสิทธิพงษ์ เจียมศรีพงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า "ปัญหาภัยแล้งยังไม่กระทบต่อโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดพิจิตรมากนัก ในอนาคตหากปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงอาจได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย โดยเฉพาะในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมาก เช่น โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร ซึ่งจะเร่งแจ้งให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมรับมือ เพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจในลำดับถัดไป"

 

ด้าน นายประชา มีธรรม อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า "การลงพื้นที่สำรวจทั้งในเขตและนอกเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างอำเภอ ยังไม่ได้รับรายงานการขาดแคลนน้ำสำหรับการผลิต และคาดว่าน่าจะเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งของปีนี้ ซึ่งในเขตอุตสาหกรรมได้มีการกักเก็บน้ำให้เพียงพอต่อการใช้ได้ตลอดทั้งปีอยู่แล้ว"

 

"ในส่วนของโรงงานที่อยู่นอกเขตอุตสาหกรรม และในพื้นที่ต่างอำเภอที่ตั้งเป็นโรงงานเดี่ยว ก็มีระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ส่วนใหญ่ ใช้ระบบ 3R ซึ่งอุตสาหกรรมจังหวัดได้พยายามรณรงค์ให้แต่ละโรงงานช่วยกันประหยัดน้ำ เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้ง นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะนำน้ำขุมเหมืองของโรงโม่หินโชคชัยความจุ 50,000 ลูกบาศก์เมตร มาใช้ในภาคเกษตร แต่ในส่วนของโรงโม่หินศิลาทุ่งอรุณความจุ 30,000 ลูกบาศก์เมตร ใช้ประโยชน์เฉพาะในการทำเหมืองแร่ ซึ่งต้องรอผลตรวจสอบคุณภาพน้ำจากสาธารณสุขจังหวัดอีกครั้ง" นายประชา กล่าว

 

ด้าน นายพัฒนะ พลศรี หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 เขื่อนระบายน้ำฝายวังยาง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนกลาง เปิดเผยว่า "แม่น้ำชีมีปริมาณน้ำเหลืออยู่น้อยมาก ซึ่งจังหวัดมหาสารคามจะเป็นแหล่งรองรับน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ช่วงนี้ทางเขื่อนอุบลรัตน์ปล่อยน้ำออกมาวันละประมาณ 500,000 ลูกบาศก์เมตร เข้าสู่ลำน้ำชีสำหรับใช้ผลิตน้ำประปา ซึ่งจะสามารถปล่อยน้ำออกมาได้อีกประมาณ 70-80 วันเท่านั้น เมื่อถึงช่วงนั้นจะไม่มีน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ปล่อยลงมา ก็ต้องรอน้ำฝนอย่างเดียว"

 

ขณะที่ทางด้าน นายสันทัด ศรีภัทรภิญโญ ผู้จัดการโรงงานผลิตน้ำแข็งหลอดลีตังเซ้ง จ.มหาสารคาม กล่าวว่า "ธุรกิจน้ำดื่มและน้ำแข็งหลอดเกือบทุกรายใช้น้ำประปาเป็นวัตถุดิบในการผลิต หากภัยแล้งกระทบต่อการผลิตน้ำประปา ก็ย่อมส่งผลต่อธุรกิจน้ำดื่มและน้ำแข็ง เพราะส่วนใหญ่ไม่มีการสต็อกน้ำไว้ใช้ สำหรับโรงงานของบริษัทฯสามารถสต็อกน้ำไว้ได้ไม่เกิน 7 วันเท่านั้น หากมีการงดจ่ายน้ำเป็นเวลานาน ก็คงต้องลดการผลิตลง หรือหากน้ำมีปริมาณน้อยก็ต้องทำใจยุติการผลิตชั่วคราว คงต้องรอลุ้นอีก 2 เดือนข้างหน้าในช่วงที่เขื่อนอุบลรัตน์งดปล่อยน้ำลงในลำน้ำชี แต่มั่นใจว่าแหล่งน้ำสำรองคงสามารถแก้ปัญหาได้"

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics