HOT

พบขอ รง.4 แต่ไม่สร้างโรงงานเพียบ อุตฯเร่งสั่งตรวจ
POSTED ON 15/10/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นสพ.ประชาชาติธุรกิจ รายงานข่าวในวันนี้ (15 ต.ค.2558) ว่า นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมจังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตประกอบการโรงงาน (รง.4) ช่วงระหว่างปี 2557-2558 ว่าเหตุใดจึงไม่มีการลงทุนก่อสร้างโรงงาน ซึ่งแต่ละปีมีการออกใบอนุญาต รง.4 กว่า 5,000 ใบ และมีสัดส่วนการลงทุนจริงกว่า 90% ส่วนที่เหลืออีก 10% ตามกฎหมาย รง.4 ไม่ได้มีเกณฑ์กำหนดว่าจะต้องลงทุนภายในกี่ปี

 

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า "ผู้ประกอบการเมื่อได้ใบ รง.4 แล้วยังไม่ลงทุนมีมาก แต่ปีนี้อาจมีมากกว่าปกติ บางบริษัทยังไม่กล้าตัดสินใจ ซึ่งอาจเกิดจากไม่มีเงินทุน ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และปัญหาด้านชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลังจากนี้เมื่อกรมฯได้ข้อมูลแล้วจะส่งให้ทาง รมว.อุตสาหกรรม รับทราบภายในเดือน ต.ค.2558 นี้ ส่วนรายใดที่มีปัญหาเรื่องเงินลงทุนจะให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ประสานกับธนาคารเอสเอ็มอีฯ ให้"

 

ในหลักเกณฑ์ของ รง.4 ไม่ได้กำหนดระยะเวลาของการลงทุนเหมือนกับการยื่นขอบัตรส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่หากได้บัตรส่งเสริมฯแล้วไม่ลงทุนภายใน 3 ปี รัฐเสียหาย เพราะรัฐให้สิทธิประโยชน์ไปแล้ว แต่ รง.4 ยังไม่ลงทุนก็ได้ ซึ่งรัฐไม่ได้เสียหายอะไร ซึ่งเอกชนบางรายอาจประสบปัญหาปัญหา และอาจกลับมาลงทุนในปีที่ 3 ก็ได้ ดังนั้น หากจะไปกำหนดระยะเวลาให้ตั้งโรงงานภายในกี่ปี ต้องไปแก้กฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องยาก

 

ขณะที่ทางด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า "สาเหตุที่เอกชนยังไม่ลงทุนในขณะนี้ต้องมาวิเคราะห์ดูก่อนว่า อาจประสบปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ผังเมืองหรือไม่ ส่วนกรณีเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว เอกชนมองว่าเป็นโอกาสที่ต้องลงทุนมากกว่า ไม่ควรที่จะรอ"

 

"ทุกคนมองว่าเศรษฐกิจไม่ดี บางรายรอให้เศรษฐกิจดีขึ้นกว่านี้จึงค่อยลงทุน แต่ในความเป็นจริง เอกชนไม่ควรรอ ควรลงทุนก่อสร้างโรงงานได้แล้ว เพราะยิ่งเศรษฐกิจไม่ดี ราคาวัสดุก่อสร้างยิ่งถูก ทั้งยังมีมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และมาตรการด้านภาษีที่ช่วยหนุน เชื่อว่าอีก 2-3 เดือน นักลงทุนน่าจะทยอยลงทุนเพิ่มมากขึ้น" นายสุพันธุ์ กล่าว

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงฯมีความกังวลว่าจำนวนผู้ประกอบการโรงงานจะทำการขอต่อใบอนุญาตก่อนหมดอายุไม่ทัน เนื่องจากจำนวนบุคลากรของ กรอ.ไม่เพียงพอ มีเจ้าหน้าที่เพียง 1 คนต่อโรงงานเท่านั้น โดยเฉพาะช่วงเดือน ก.ย.ของทุกปี ที่เริ่มมีการทยอยขอต่อใบอนุญาตฯกัน จึงได้ประชุมแนวทางบูรณาการสำหรับการพิจารณาการต่อใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน โดยการเตรียมว่าจ้างให้บริษัท out source เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้ตรวจโรงงาน และประเมินสถานภาพโรงงาน เพื่อให้ทันการต่อใบอนุญาตในปีถัดไป โดยเฉพาะสมุทรปราการที่มียื่นมาถึง 1,200 คำขอต่อปี รวมถึงสมุทรสาคร และปทุมธานี ซึ่งเป็นเขตที่มีโรงงานจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการโรงงานผลิตอาหาร ซึ่งการบูรณาการครั้งนี้เพื่อสอดรับกับ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics