HOT

รมว.พลังงาน ยังหวังโรงไฟฟ้าถ่านหินจะสร้างได้ตามแผนฯ
POSTED ON 07/10/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานจะยังคงสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาว 21 ปี (พ.ศ.2558-2579) หรือ พีดีพี 2015 ที่ 20-25% ในปี 2579 แม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจนโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา กำลังการผลิตรวม 2,000 เมกะวัตต์ เนื่องจากกระทรวงพลังงานยังคาดหวังว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะสามารถเกิดขึ้นตามแผน แต่ต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่มากกว่าเดิม รวมทั้งจะพิจารณาสิทธิประโยชน์ให้กับชุมชนเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีเพียงการนำกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเข้ามาดูแลชุมชนรอบโรงไฟฟ้า

 

"ยืนยันว่าจำเป็นต้องมี โรงไฟฟ้าถ่านหินเข้ามาในระบบ แม้จะถูกมองว่าขณะนี้ปริมาณสำรองไฟฟ้าในระบบอยู่ในปริมาณมากเกินความจำเป็นนั้น ในความเป็นจริงแล้วปริมาณสำรองที่พูดถึงกันนั้นเป็นการคิดจากกำลังการผลิตติดตั้ง ซึ่งหากคิดที่ผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบจริงแล้วมีไม่ถึง 25% ดังนั้น โรงไฟฟ้าถ่านหินที่เข้ามานั้นนอกจากจะลดสัดส่วนการพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติแล้ว ยังเพื่อกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงให้มากขึ้น" รมว.พลังงาน กล่าว

 

โดยกระทรวงพลังงานจะเตรียมหาแนวทางช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่เพิ่มเติมนอกเหนือจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ซึ่งเชื่อว่าหากชุมชนมีความเชื่อมั่นเทคโนโลยี และการดูแลที่ดี เชื่อว่าในอนาคตโรงไฟฟ้าถ่านหินจะเกิดมากขึ้น ทั้งนี้ สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าตามแผนพีดีพี 2015 มีความเหมาะสมแล้ว โดยกำหนดให้สัดส่วนก๊าซในการผลิตไฟฟ้าลดลงเหลือ 30-40%, ถ่านหิน 20-25% และพลังงานหมุนเวียน 15-20% แต่ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามแผน กระทรวงพลังงานจะต้องทบทวนแผนพีดีพี 2015 ในปี 2559 เพื่อปรับแผนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น ต้องปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติมากขึ้น หรือเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนขึ้น

 

สำหรับแผนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ตามแผนพัฒนาพลังงานและพลังงานทางเลือก (AEDP) โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีสัดส่วนถึง 6,000 เมกะวัตต์ ในปี 2579 นั้น ยังคงเดินหน้าตามแผน เนื่องจากผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ทั้ง 5 แผนแล้ว แต่หากในอนาคตโรง ไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นไม่ได้ อาจต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพิ่มขึ้นเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้า ดังนั้น จึงต้องทบทวนแผน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับอัตราค่าไฟในอนาคต อย่างไรก็ตาม จะมีการทบทวนแผนพีดีพีทุก 5 ปี

 

พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า "ได้เสนอแนะให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าชี้แจงกับประชาชนที่คัดค้านโครงการดังกล่าว จนกว่าจะได้ข้อสรุปที่พอใจกับทุกฝ่าย ส่วนสาเหตุที่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะโรงไฟฟ้าสร้างที่เดิมมีต้นทุนเพียง 8,000-10,000 ล้านบาท"

 

ด้าน นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า "การจัดทำแผนยุทธศาสตร์พลังงาน 5 แผนหลัก ทาง พล.อ.อนันตพร สั่งการเร่งด่วนในการทำแผนปฏิบัติ ทั้งการประหยัดพลังงานแผนอนุรักษ์พลังงาน และพลังงานทดแทน ซึ่งตนจะเรียกประชุมทุกหน่วยงานในสังกัด เพื่อให้เกิดการทำงานที่สอดคล้องและลดความซ้ำซ้อน"

 

 

ขณะที่การประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 33 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้เริ่มขึ้นแล้วในวันนี้ (7 ต.ค.2558)  โดยหัวข้อของการหารือคือ แผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียนฉบับใหม่ สำหรับปี ค.ศ.2016-2025 โดยได้มีการจัดทำเป้าหมายสำหรับแผนระยะที่ 1 ปี 2016-2020 คือ (1) เป้าหมายด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (EE) ได้แก่ การลดอัตราการใช้พลังงานต่อจีดีพี (EI) ให้ได้ 20% ภายในปี 2020 โดยใช้ปี 2005 เป็นปีฐาน (2) เป้าหมายการส่งเสริมพลังงานทดแทน (Renewable Energy - RE) ด้วยการกำหนดให้มีการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน 23% ในปี 2025 (3) การส่งเสริมการซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคี (Multilateral trade) ภายในปี 2018 และ (4) การส่งเสริมภาพลักษณ์การใช้ถ่านหินด้วยเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด

 

และในช่วงค่ำจะมีพิธีมอบรางวัล Asean Energy Award 2015 ซึ่งประเทศไทยยังคงครองแชมป์เวทีนี้ติดต่อเป็นปีที่ 11 ด้วยการคว้ารางวัลสูงสุดในปีนี้ 18 รางวัล จากทั้งหมด 46 รางวัล ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้นทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จัดการประกวดชิงรางวัล Thailand Energy จากนายกรัฐมนตรี ก่อนเสนอเข้าประกวดรางวัล Asean Energy

 

โดยในปีนี้ นายคุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และ นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อดีตอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังได้รับมอบรางวัลเกียรติยศในประเภทบุคคลพลังงานดีเด่นด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียน โดยรางวัลนี้จะมอบให้กับบุคคลที่มีความสามารถโดดเด่นและมีส่วนสำคัญในการพัฒนาพลังงานในการพัฒนาพลังงานภูมิภาคนี้

 

ด้าน นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ระบุว่า ความสำเร็จในการรับมอบรางวัลครั้งนี้ เป็นเพราะรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านกฎหมาย แหล่งพลังงาน มาตรการด้านการเงิน การลงทุน การพัฒนาบุคคลากร การส่งเสริมให้ชุมชนมีสาวนร่วมส่งเสริมพลังงานทดแทน การปรับมาตรการจูงใจการลงทุนที่เหมาะสม ในขณะที่จะเห็นว่ารัฐบาลมีการส่งเสริมการใช้พลังงานระยะยาวทั้งแผนพัฒนาไฟฟ้าระยะยาว ทั้งแผนพีดีพีหรือแผนพัฒนาไฟฟ้าระยะยาว แผนพลังงานทดแทน แผนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งนับเป็นแผนที่มีประสิทธิภาพระดับสูง เพื่อทำให้ประเทศไทยเกิดความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics