HOT

ไทยจะขาดแรงงานฝ่ายผลิตกว่า 3 แสนคน ในอีก 4 ปีข้างหน้า
POSTED ON 05/10/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นสพ.แนวหน้า รายงานข่าวในวันนี้ (5 ต.ค.2558) ว่า ภาคเอกชนกลุ่มต่างๆ ได้ร่วมกันวางแผนงานโดยการจูงใจนักเรียนให้เข้าศึกษาต่อในระดับ ปวช.มากขึ้น เพื่อลดปัญหาการแย่งตัวแรงงานฝีมือ เช่น ผู้ที่ผ่านหลักสูตรเฉพาะด้านสาขาอาชีพในระดับ ปวช. และ ปวส. จะได้ค่าตอบแทนเริ่มต้นเท่ากับปริญญาตรี คือ 15,000 บาทต่อเดือน และจะเพิ่มช่องทางต่างๆ ให้เป็นหัวหน้างานได้ เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพการงาน

 

นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า "ที่ผ่านมานักลงทุนทั้งในและต่างประเทศบ่นว่าขาดแคลนแรงงานอาชีวะอย่างมาก เนื่องจากผู้ที่จบระดับปริญญาตรีมีมาก แต่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้เกิดการว่างงาน ซึ่งในภาพรวมการจ้างงาน หอการค้าฯต้องการให้รัฐบาลปรับหลักเกณฑ์เรื่องของรายได้ในส่วนของผู้ที่จบสายอาชีพให้สูงขึ้นหรือใกล้เคียงกับผู้ที่จบระดับปริญญาตรี เพื่อส่งเสริมให้เด็กนักเรียนหันมาเรียน ปวช.และ ปวส.กันมากขึ้น"

 

ทั้งนี้ เอกชนกลุ่มต่างๆ อยู่ระหว่างการร่างหลักสูตรการเรียนการสอนเฉพาะด้านแก่โรงเรียนอาชีวะหรือสถาบันต่างๆ ที่มีการลงนามข้อตกลงกับแต่ละกลุ่มธุรกิจให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณา เช่น หลักสูตรอุตสาหกรรมยานยนต์, การพัฒนาหรือซ่อมแซมเครื่องจักรกลเกษตร, อสังหาริมทรัพย์, เกษตรแปรรูป, การค้าและอื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนได้ศึกษา และฝึกทำงานในสถานประกอบการเหมือนกับพนักงานของบริษัท เพื่อรองรับความต้องการแรงงานเฉพาะด้านของนักลงทุน เพราะเมื่อจบการศึกษาก็สามารถทำงานได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาในการศึกษางาน เหมือนกับปัจจุบัน ซึ่งผู้ที่จบออกมาก็จะได้ทำงานหมด และการร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนในหลายโครงการก็ได้ดำเนินการและเกิดการจ้างงานแล้ว

 

ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมมีแรงงานกว่า 6,000,000 คน แบ่งเป็นแรงงานวิชาชีพกว่า 1,000,000 คน และแรงงานฝ่ายผลิตกว่า 5,000,000 คน โดยแรงงานจะอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด รองลงมาเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ โดยประเมินว่าใน 3-4 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมไทยจะขาดแรงงานฝ่ายผลิตประมาณ 300,000 คน เพราะแรงงานภาคอุตสาหกรรมไทยส่วนหนึ่งเป็นแรงงานที่มีอายุสูง ทั้งยังเป็นแรงงานที่มีฝีมือด้วย ดังนั้น แสดงให้เห็นว่าในอนาคตประเทศไทยจะขาดแคลนแรงงานประเภทดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงอายุ

 

"ความต้องการตลาดแรงงานสายวิชาชีพ มีสูงกว่าแรงงานสายสามัญ แต่ปัจจุบันค่านิยมการศึกษาของไทยไม่ตอบสนองความต้องการภาคธุรกิจมากนัก นักเรียนและนักศึกษาที่เลือกเรียนสายสามัญมีอยู่ประมาณ 60% แต่มีอัตราการว่างงานเพิ่มมากขึ้น ขณะที่อีก 40% ที่เลือกสายอาชีวะ กลับมีอัตราการว่างงานน้อย ดังนั้น ต้องมีการปรับสัดส่วนให้เท่ากันจึงจะทำให้แรงงานที่จบมาเพียงพอต่อความต้องการ ขณะเดียวกันหากมีหลักสูตรเฉพาะด้านก็จะดียิ่งขึ้น โดยแรงงานที่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต้องการมากในระดับ ปวช. และ ปวส. เช่น สาขาช่างกลโรงงาน, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, ช่างยนต์ เป็นต้น" นายภูมินทร์ กล่าว

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics