HOT

วงการเหล็กไทยยังวุ่น เอกชนร้องรัฐแก้ปัญหาเพียบ
POSTED ON 08/09/2558


ข่าวอุตสาหกรรม - นสพ.แนวหน้า รายงานในวันนี้ (8 ก.ย.2558) ว่า สมาคมโลหะไทยได้เข้ามายื่นหนังสือคัดค้านการพิจารณาแก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กลวดคาร์บอนต่ำ ที่เพิ่มการจำกัดปริมาณส่วนประกอบของธาตุเจือ 7 ประเภท คือ โบรอน, ไททาเนียม, โมลิดีนัม, โครเมียม, นิคเกิล, คอปเปอร์ และซิลิกอน หรือห้ามไม่ให้มีธาตุเหล่านี้สูงเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด เนื่องจากไม่มีความเหมาะสม เพราะเป็นการกำหนดมาตรฐานที่ไม่มีเหตุผลทางวิชาการ เป็นการสร้างอุปสรรคให้กับผู้ประกอบการ

 

นายวิสิทธิ์ กิตติวรรธนกุล อุปนายกสมาคมโลหะไทย เปิดเผยว่า มาตรฐานดังกล่าวยังขัดต่อมาตรฐานสากล เช่น JIS (Japanese Industrial Standard) มาตรฐานของญี่ปุ่น และ ASTM (American Society for Testing and Material) สมาคมเพื่อการทดสอบและวัสดุแห่งอเมริกา ที่อนุญาตให้เหล็กลวดคาร์บอนต่ำบางชั้นคุณภาพสามารถเจือธาตุบางประเภทได้ตามความเหมาะสมของการใช้งาน รวมทั้งยังเป็นการลดประสิทธิภาพ และความสามารถในการนำไปใช้งานของสินค้าเหล็กลวด เช่น การรีดลดขนาด การเชื่อม เป็นต้น และยังเป็นสิทธิของผู้ใช้ที่สามารถเลือกใช้วัตถุดิบใดๆ ตามความเหมาะสมของสินค้าและกระบวนการผลิต ดังนั้น สมาคมฯจึงขอเรียกร้องให้ สมอ.พิจารณาทบทวนแก้ไขมาตรฐานดังกล่าว

 

"สมอ.ไม่ควรจะมาจำกัดกฎเกณฑ์ปลีกย่อยในการเจืออัลลอยด์ในเหล็กลวด เพราะผู้ผลิตแร่ละลายก็มีการเจืออัลลอยด์เพื่อปรับคุณสมบัติเหล็กลวดให้เหมาะกับอุตสาหกรรมเฉพาะอย่าง ซึ่งหากมาตรฐานใหม่นี้มีผลบังคับใช้ ก็จะกระทบต่อผู้ประกอบการที่ใช้วัตถุดิบเหล็กลวดเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังเป็นการบีบให้ผู้ประกอบการต้องใช้เหล็กลวดคาร์บอนต่ำที่ผลิตจากโรงเหล็กภายในประเทศไม่กี่ราย" นายวิสิทธิ์ กล่าว

 

สำหรับความคืบหน้าในกรณีการเรียกร้องให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้มีการยกเลิกแผนที่จะประกาศเซอร์ชาร์จเหล็กลวดคาร์บอนต่ำ ที่จะจัดเก็บภาษีเพิ่มในอัตรา 35% นั้น ในเรื่องนี้กลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้วัตถุดิบเหล็กลวดคาร์บอนต่ำต่างก็ร่วมมือคัดค้านกันอย่างเต็มที่ เพราะเหล็กลวดคาร์บอนต่ำที่ผลิตภายในประเทศยังมีมาตรฐานต่ำกว่าเหล็กลวดคาร์บอนต่ำที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งหากบีบให้ผู้ประกอบการหันมาใช้เหล็กลวดคาร์บอนต่ำภายในประเทศ หากเกิดความผิดพลาดขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโดยรวมทั้งประเทศได้

 

ทั้งนี้ ล่าสุดบีโอไอได้นำเรื่องนี้กลับไปทบทวนในการกำหนดให้อุตสาหกรรมผลิตน็อต สกรู และชิ้นส่วนอื่นๆ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะได้รับการยกเว้นไม่เก็บภาษีเซอร์ชาร์จ ซึ่งในเรื่องนี้กลุ่มผู้ประกอบการจะติดตามความเคลื่อนไหวต่อไป

 

ขณะที่ นสพ.บ้านเมือง รายงานข่าวในวันเดียวกันว่า ทางสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย โดย นายยรรยง คุโรวาท นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย ได้ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยรวม 7 สมาคม ยื่นหนังสือต่อ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ขอให้ผลักดันและสานงานเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กยั่งยืน พร้อมพิจารณาเปิดไต่สวน และบังคับใช้มาตรการเยียวยาทางการค้าโดยเร็วที่สุด เช่นเดียวกับประเทศอื่นทั่วโลก ก่อนที่อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศจะล้ม

 

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยเชื่อมั่นว่า รมว.พาณิชย์ และคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะสามารถขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ โดยมีตัวอย่างให้เห็นจากประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่สามารถสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจโดยเริ่มต้นจากการให้ความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการเร่งด่วนในตอนนี้ คือ การเร่งรัดการเปิดไต่สวน และบังคับใช้มาตรการเยียวยาทางการค้าเนื่องจากมีหลายสินค้าที่ได้รับความเสียหายจากการดำเนินธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม แต่ขณะนี้รอการเปิดไต่สวนมากว่า 6 เดือน หรือรอการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองมากว่า 1 ปี

 

ขณะนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการคุ้มครองอุตสาหกรรมเหล็กเป็นอย่างมาก โดยในช่วงต้นปี 2558 มีการเปิดไต่สวนและกำหนดมาตรการคุ้มครองอุตสาหกรรมเหล็กอย่างมากมาย กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยอยากร้องขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดพิจารณาเปิดไต่สวนและบังคับใช้มาตรการเยียวยาทางการค้าโดยเร็วที่สุด เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เนื่องจากสถานการณ์ของอุตสาหกรรมเหล็กไทยอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ซึ่งประเทศไทยนำเข้าสุทธิสินค้าเหล็กสูงถึง 14.4 ล้านตันต่อปี มากสุดเป็นลำดับที่ 2 ของโลก รองจากอเมริกาซึ่งมีการนำเข้าเหล็กสุทธิ 17.8 ล้านตันต่อปี

 

และสิ่งที่สะท้อนความเสียหายอย่างชัดเจนคือ ผลการดำเนินงานรายอุตสาหกรรมครึ่งปีแรกของปี 2558 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า มีเพียงอุตสาหกรรมเหล็กเพียงอุตสาหกรรมเดียวที่มีผลดำเนินการเป็นลบ

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics