FINANCE & INVESTMENT

UPA ลุ้นปีนี้พลิกมีกำไรหากปิดดีลซื้อโซลาร์ฟาร์มที่ COD แล้วใน CLMVT 1-2 โครงกา
POSTED ON 12/07/2562


 

 

นายวิชญ์ สุวรรณศรี รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย (UPA) เปิดเผย"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทเตรียมงบลงทุนกว่า 1 พันล้านบาท เพื่อรองรับการซื้อหรือร่วมลงทุน (M&A) ธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน และธุรกิจสาธารณูปโภคต่อเนื่อง เบื้องต้นคาดว่าด้วยเงินลงทุนดังกล่าวจะสามารถมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มอีกราว 30 เมกะวัตต์ (MW) จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิตรวมประมาณ 8 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งมาจาก 3 โครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ที่เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ตั้งแต่ปลายปี 61 และต่อเนื่องถึงต้นปี 62 ครบทั้งหมดแล้ว

 

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาดีล M&A โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) และพลังงานลม ในกลุ่ม CLMVT ทั้งลาว ,กัมพูชา ,เวียดนาม ,เมียนมา และไทย จำนวน 4-5 โครงการ และคาดว่าจะปิดดีลได้ 2-3 โครงการภายใน 12 เดือนข้างหน้า แต่ก็มีลุ้นที่จะจบดีลได้สำหรับ 1-2 โครงการในปีนี้ ซึ่งเป็นโครงการโซลาร์ฟาร์มในไทยและเวียดนามที่ COD แล้ว ก็จะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มอีกราว 20 เมกะวัตต์ในสิ้นปี และผลักดันให้กลับมามีกำไรสุทธิครั้งแรกในรอบ 9 ปี หลังขาดทุนสุทธิต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 53

 

ขณะที่บริษัทวางเป้าระยะกลาง 3-5 ปีข้างหน้าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 30-50 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้บริษัทยังมีการเติบโตได้ระหว่างรอการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ 200 เมกะวัตต์ ในเมียนมา

 

"นอกจากเมียนมาแล้วที่ลาว กัมพูชา เวียดนาม ก็มีโอกาสทำธุรกิจด้านพลังงาน ที่มีคนเข้ามาเสนอโครงการทั้งที่ COD และอยู่ระหว่าง COD โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมก็เข้ามา 4-5 โครงการ ปีนี้ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดเป็นไปตามแผนก็น่าจะเข้ามา 1-2 โครงการ รวมทั้งไทยด้วย ที่เรามุ่งเป้าคือโครงการที่ COD แล้วเพื่อให้มีรายได้เข้ามาทันที รับรู้ผลประกอบการได้ทันที จุดแข็งเรามีทุนพร้อมที่จะเข้าไปซื้อกิจการ...เราต้องเร่งรัดทุกธุรกิจเพื่อให้ผลประกอบการ turnaround กลับมาให้ได้ ก็มีลุ้นในปีนี้ถ้าได้โครงการเข้ามาตามเป้า 1-2 โครงการ ถ้าลำพังมีเพียงโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ก็น่าจะยังขาดทุน"นายวิชญ์ กล่าว

 

UPA เดิมคือ บมจ.ไซเบอร์แพลนเน็ต อินเตอร์แอคทีฟ (CYBER) ซึ่งทำธุรกิจไอที เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.53 และยังไม่สามารถทำกำไรสุทธิประจำปีได้เลย ต่อมาได้มีการเปลี่ยนกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ และหันมาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก่อนจะมาเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นปัจจุบันที่ชูธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจหลัก ล่าสุดได้ขายธุรกิจไอทีออกไปทั้งหมดแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมาเพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนต่อเนื่อง ซึ่งการขายธุรกิจดังกล่าวออกไปทำให้ปี 61 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 173.55 ล้านบาท และในไตรมาส 1/62 ยังมีผลขาดทุนสุทธิ 21.41 ล้านบาท

 

นายวิชญ์ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจ 3 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจพลังงาน ซึ่งมีโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ 3 โครงการ กำลังการผลิตรวมประมาณ 8 เมกะวัตต์ สร้างรายได้ให้แก่บริษัทราว 50 ล้านบาท/ปี และอยู่ระหว่างเจรจาขยายเงื่อนไขบังคับของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับกระทรวงไฟฟ้าและพลังงานของเมียนมา (MOEE) ของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ จาก 24 เดือนเป็น 48 เดือน นับจากวันที่ 28 มี.ค.59 หลังเกิดความล่าช้าของโครงการจากการปลี่ยนแปลงในนโยบายพลังงานของเมียนมา

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการดำเนินการน่าจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นหลังจากที่ทางการเมียนมาได้รับเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เพื่อสร้างสายส่งไฟฟ้าที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 65 ซึ่งการมีสายส่งเกิดขึ้นก็จะทำให้โครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ โดยเบื้องต้นประเมินว่าการขยายเงื่อนไขบังคับก่อนของ PPA น่าจะได้รับการอนุมัติในช่วงไตรมาส 3/62

 

แต่ระหว่างที่รอการพัฒนาโครงการดังกล่าว บริษัทก็มองหาโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนใน CLMVT ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อเข้ามาหนุนผลประกอบการ รวมถึงยังได้ยื่นเข้าร่วมพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น (Pre-Qualification: PQ) เพื่อคัดเลือกเข้าทำโครงการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็กในเมียนมา เพื่อจ่ายไฟฟ้าตามหมู่บ้านตั้งแต่ช่วงต้นปี 62 แต่ยังไม่มีความคืบหน้าออกมา

 

ด้านธุรกิจสาธารณูปโภค ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอลงนามสัญญาและโอนหุ้นในการเข้าร่วมลงทุน 18% โครงการน้ำประปาแสนดินในลาว ซึ่งคาดว่าจะโอนหุ้นแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 3/62 โครงการตั้งอยู่ที่นครหลวงเวียงจันทน์ ได้เริ่มผลิตน้ำประปาในเชิงพาณิชย์แล้วเมื่อเดือน มิ.ย.62 เพื่อจำหน่ายให้กับน้ำประปานครหลวงของลาว มีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี กำลังการผลิตรวม 48,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วัน แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรก 24,000 ลบ.ม./วัน ซึ่งหลังจากการโอนหุ้นแล้วเสร็จคาดว่าจะสร้างส่วนแบ่งกำไรกลับเข้าเฉลี่ย 10 ล้านบาท/ปี ในช่วง 10 ปี ส่วนระยะที่ 2 จะมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 48,000 ลบ.ม./วัน ตั้งแต่ปีที่ 13

 

ทั้งนี้ บริษัทยังมองการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวในพื้นที่อื่น ๆ ทั้งในลาว ,เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งคาดว่าจะใช้โมเดลธุรกิจเดียวกันคือการเปิดให้เอกชนเป็นผู้รับสัมปทานเพื่อผลิตน้ำประปาจำหน่ายให้กับทางการ ก็จะเป็นโอกาสของบริษัทในการสร้างรายได้ประจำ (Recurring Income) เข้ามามากขึ้นด้วย