FINANCE & INVESTMENT

GC รับมีแผนปิดซ่อมโรงงานปิโตรฯ Q2/62 พร้อมเตรียมแผนรับมือสงครามการค้า
POSTED ON 20/05/2562


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

นายทิติพงษ์ จุลพรศิริดี ผู้จัดการฝ่ายหน่วยงานการเงินองค์กรและนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2562 ยอมรับว่ามีหลายปัจจัยเข้ามากดดัน โดยหลักๆ เป็นผลมาจากการปิดซ่อมบำรุงโรงงานอะโรแมติกส์ หน่วยที่ 1 ประมาณ 53 วัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดิม 5% ประกอบกับบริษัทจะมีการบันทึกค่าใช้จ่ายพนักงานตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานใหม่กว่า 780 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ ส่วนต่าง(สเปรด) ราคาผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ยังมีทิศทางที่อ่อนตัวลง ตามกำลังการผลิตใหม่ที่เข้ามาในตลาดโลก โดยเฉพาะในกรณีที่ทางจีนเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตเข้ามาในช่วงกลางปีนี้ แต่หากว่ากำลังการผลิตใหม่ดังกล่าวเข้ามาล่าช้ากว่ากำหนดก็มองว่าจะส่งผลบวกต่อสเปรดในระยะสั้น ส่วนราคาผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ยังคงทรงตัวดี โดยเฉพาะราคาผลิตภัณฑ์ HDPE ปัจจุบันอยู่ที่ 1,115 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกเฉลี่ยอยู่ที่ 1,093 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน

 

สำหรับประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ล่าสุดทางบริษัทได้มีการจัดตั้งทีมขึ้นมาเพื่อติดตามสถานการณ์ของสงครามการค้าอย่างใกล้ชิด เพราะกังวลว่าจะสร้างแรงกดดันให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อาจมีผลกระทบกับทิศทางของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง ซึ่งปัจจุบันบริษัทยังคงสมมติฐานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ที่ 65-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากในปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 69 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ล่าสุดเตรียมพร้อมรับมือและปรับกลยุทธ์ทางการขายและการผลิตให้สอดคล้องกับทิศทางตลาดโลก ขณะเดียวกันบริษัทยังมีโครงการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตภายใต้โครงการ MAX ซึ่งจะช่วยก็จะได้สร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ให้ในปี 2562 ได้ประมาณ 4,000 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธุรกิจโรงกลั่น อาจมีทิศทางที่ชะลอตัวลงกว่าเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากภายในช่วงไตรมาส 4/2562 บริษัทมีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นประมาณ 54 วัน ประกอบกับค่าการกลั่น (GRM) มีแนวโน้มอ่อนตัว ซึ่งเป็นผลมาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ความต้องการที่ลดลง แต่ปริมาณสินค้าคงคลังสูงขึ้น สะท้อนได้จากในไตรมาสแรกปีนี้ GRM เฉลี่ยอยู่ที่ 3.32 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังต้องจับตาความเสี่ยงเรื่องของสงครามการค้าว่าจะกระทบต่อค่าการกลั่นให้ชะลอตัวได้มากน้อยเพียงใด รวมถึงผลกระทบมาตราการ IMO 2020 ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) ออกกฎระเบียบเชื้อเพลิงกำมะถันในการลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ หรือกำมะถันให้เหลือ 0.5% จากปัจจุบัน 3.5% เพื่อลดมลพิษทางอากาศ มีผลวันที่ 1 มกราคม 2563 อีกด้วย