FINANCE & INVESTMENT

ตลท.แนะเอกชนวางเป้าทำ IPO เอื้อระดมเงินจากสถาบันการเงินใช้ประเดิมลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ
POSTED ON 05/02/2562


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics, Economic

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเกณฑ์เอื้อการระดมทุนภาคเอกชนในการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ เพื่อแก้ไขปัญหาชยะหมดโลกใน 20 ปีข้างหน้า พร้อมแนะแผน IPO ออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คืนกำไรแก่ประชาชน

นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในการสัมมนาวิชาการ 20 ปีขยะประเทศหมดไปด้วยกลไกตลาดทุนว่า ตลท.ได้วางกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการเข้าระดมทุนของภาคเอกชนในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการกำจัดขยะ เป็นแนวทางที่ช่วยแก้ไขปัญหาขยะของประเทศอย่างยั่งยืน แต่จุดเริ่มต้นของโครงการจำเป็นต้องใช้เงินสนับสนุนจากเจ้าของโครงการ หรือผู้ร่วมทุน หรือเงินกู้จากสถาบันการเงิน ซึ่งจุดสำคัญที่จะทำให้การระดมทุนขั้นต้นประสบความสำเร็จคือการมีแผนงานที่จะนำธุรกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะจะทำให้การระดมทุนในขั้นตอนแรกประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น

 

"ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกฎเกณฑ์ต่างๆที่เอื้อต่อการเข้าระดมทุนเพื่อที่จะพัฒนาแนวทางการกำจัดขยะให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งตลาดทุนก็จะเป็นอีกแรงผลักดันหนึ่งที่ช่วยให้อีก 20 ปี ปัญหาขยะหมดประเทศไทยได้"นายรองรักษ์ กล่าว

 

นายรองรักษ์ ยกตัวอย่างโครงการโรงไฟฟ้าขยะที่มีขนาดกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนราว 1,500 ล้านบาท ขั้นตอนแรกจะต้องได้มาซึ่งสิทธิในการบริหารจัดการขยะก่อน ประเมินการใช้เงินทุนส่วนนี้ในสัดส่วน 10% ของมูลค่าโครงการ หรือราว 150 ล้านบาทเป็นเงินก้อนแรกที่ต้องมี ส่วนที่ 2 คือ การได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่จะต้องใช้เงินทุนในการจัดการอีกราว 100 ล้านบาท ส่วนที่ 3 คือเงินลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะที่ประเมินต้นทุนราว 1,250 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาการก่อสร้างราว 2 ปี หลังจากนั้นจึงจะสามารถเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)

 

"ในช่วงระยะเวลาแรกก่อนที่จะเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์จะต้องเริ่มจากผู้คิดค้นโครงการ และต่อมาในระยะเวลาของการดำเนินโครงการจะเป็นช่วงของการใช้เงินที่เกิดจากการเสนอขายหุ้นในแก่ผู้สนใจในการลงทุนโครงการดังกล่าว และส่วนหนึ่งมากจากเงินกู้จากสถาบันทางการเงิน และสุดท้ายหลังจากโครงการแล้วเสร็จจึงจะเป็นช่วงของการที่เตรียมตัวเข้า IPO ซึ่งในช่วงระหว่างทางแผนการที่ชัดเจนและสามารถมีใบ PPA แล้วถือว่ามีความเสี่ยงที่ต่ำพอสมควร และหากมีแผนที่จะ IPO แล้วก็จะทำให้การขอสินเชื่อทำได้ดีกว่า"นายรองรักษ์ กล่าว

 

นายธวัชชัย เกียรติกวานกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า การใช้กลไกตลาดทุนในการจัดการปัญหาขยะ สามารถใช้วิธีการจัดสรรเงินทุนด้วยการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือการออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) เพื่อที่จะให้สามารถระดมเงินทุนทางการเงินที่ต่ำได้

 

ขณะที่นายอาณัติ ลีมัคเดช ศาสตราจารย์ ระดับ 10 ภาควิชาการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า โครงสร้างการจัดสรรเงินทุนของโรงไฟฟ้าจากขยะจะต้องแสดงถึงมูลค่าที่แท้จริงของการผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ โดยหากประชาชนร่วมกันคัดแยกขยะ จะทำให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าจากขยะมีต้นทุนต่ำลงและช่วยลดการบิดเบือนกลไกราคาของค่าไฟฟ้า ดังนั้น ประโยชน์ของตลาดทุนจึงไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องการระดมทุนให้กับบริษัทเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมการบริหารจัดการ เพราะทำให้บริษัทสามารถคืนกำไรส่วนเกินกลับไปที่ประชาชนได้ด้วย

 

นายอาณํติ กล่าวว่า โรงไฟฟ้าประเภท VSPP ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ เป็นขนาดที่เหมาะสมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ โดยจะต้องมีปริมาณขยะเพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าประมาณ 500 ตันต่อวัน

 

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า การแก้ไขและวิธีการจัดการปัญหาขยะในประเทศไทยควรจะต้องดำเนินการด้วยการใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงป้อนให้กับโรงไฟฟ้าในรูปแบบของโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งภาคเอกชนจะต้องดำเนินการร่วมลงทุนกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นของรัฐ เพื่อที่จะให้เกิดขึ้นได้จริง และร่วมกับชุมชนในการแก้ไขปัญหาด้านขยะ

ขนาดของโรงไฟฟ้าจะเป็นประเภท VSPP ขนาดกำลังผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ โดยต้นทุนของการกำจัดขยะด้วยโรงไฟฟ้าจะมีต้นทุนเพียง 500 บาทต่อตัน ซึ่งหากทำในรูปแบบอื่นจะต้องใช้เงินกว่า 1,000 บาทต่อตัน แต่อย่างไรก็ตามจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ เหมือนกับรูปแบบในประเทศไต้หวัน และญี่ปุ่น ที่มีการบริหารจัดการได้อย่างดี

 

ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีปริมาณขยะอยู่ที่ 27.37 ล้านตันต่อปี โดยมีวิธีบริหารจัดการที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง ซึ่งมีเริ่มมีการบริหารจัดการแล้ว แต่ยังไม่เกิดเป็นรูปธรรม โดยการกำจัดขยะในแต่ละพื้นที่เป็นความรับผิดชอบขององกรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

 

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานพร้อมที่จะสนับสนุนโรงไฟฟ้าขยะชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยจะเห็นได้จากมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ปรับแผนรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนให้มากขึ้นอีก 400 เมกะวัตต์ เป็น 900 เมกะวัตต์ หากโครงการสามารถทำให้ชุมชนยอมรับได้ และอยู่ร่วมกันได้ก็จะทำให้ปัญหาขยะได้ถูกจัดการได้อย่างเบ็ดเสร็จ

 

ด้านนายทวี จงควินิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน กล่าวว่า วิธีการแก้ไขปัญหาขยะจะต้องนำไปเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้า ซึ่งจะต้องทำการคัดแยกขยะ เพื่อให้เหมาะสมเป็นเชื้อเพลิงในการป้อนให้โรงไฟฟ้า ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีวิธีแก้ไขปัญหาแค่เพียงฝังกลบหรือเผาทิ้ง และขยะเหล่านี้เป็นขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ทั้งหมด

 

ส่วนนายคณพศ นิจสิริภัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทริ์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด เปิดเผยว่า การฝังกลบขยะถือเป็นการแก้ไขปัญหาขยะไม่มีหมดไป เพราะขยะจะใช้เวลาย่อยสลายเป็นเวลานาน ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ได้ และยังมีอีกส่วนหนึ่งมีการทิ้งขยะโดยผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการนำไปทิ้งในที่ลับตาคน หรือการทิ้งในป่า ซึ่งในส่วนนี้ต้องได้รับการแก้ไข