FINANCE & INVESTMENT

กนอ.ร่วมเอกชน เปิด 2 นิคมอุตฯใหม่ในอ่างทองและระยอง
POSTED ON 05/02/2561


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ กนอ. ได้มีมติเห็นชอบการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในลักษณะร่วมดำเนินงาน ล่าสุดจึงเตรียมจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในรูปแบบดังกล่าว 2 นิคมฯ ได้แก่ โครงการนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ จ.อ่างทอง บนเนื้อที่ประมาณ 1,398 ไร่ ซึ่งจะร่วมดำเนินงานกับ บริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด โดยนิคมฯ ดังกล่าวจะถูกพัฒนาให้เป็นเมืองนวัตกรรมอาหารอนาคตที่ครบวงจร ภายใต้แนวคิดอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ผสมผสานกับเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ที่มีนวัตกรรมการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ เน้นการลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหารที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยได้มาตรฐานในระดับสากล

 

นอกจากนี้ ยังจะมีการสร้างเครือข่ายธุรกิจในรูปแบบคลัสเตอร์กับเศรษฐกิจชุมชน อาทิ การแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป นวัตกรรมทางด้านอาหาร โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายภายในโครงการจัดตั้ง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,200 ล้านบาท

 

สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินโครงการ แบ่งเป็น เขตอุตสาหกรรมทั่วไป 61.96% เขตพาณิชยกรรม 2.50% พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 21.35% และพื้นที่สีเขียว 14.19% ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี และคาดว่าจะสามารถขายพื้นที่หมดภายในระยะเวลา  5 ปี ซึ่ง กนอ.เชื่อว่า โครงการนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อจังหวัดอ่างทองและจังหวัดโดยรอบ พร้อมทั้งคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 40,000  ล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานไม่น้อยกว่า 6,300 คน

 

ส่วนอีกหนึ่งโครงการจะร่วมกับ บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมซี.พี. บนเนื้อที่ 3,068 ไร่ ใน ต.มาบข่า ตำบลมาบข่าพัฒนา อ.นิคมพัฒนา และ ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ด้วยงบประมาณลงทุนทั้งสิ้น 5,628.50  ล้านบาท โดยโครงการนี้มุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรและผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร รวมทั้งอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภคเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมหลักข้างต้น ซึ่งคาดว่าจะขาย/ให้เช่าพื้นที่เพื่อประกอบอุตสาหกรรมในกลุ่มดังกล่าวได้หมดภายใน 6 ปี