FINANCE & INVESTMENT

จินป่าว ทุ่มกว่า 2 พันล้านบาทเปิดโรงงานใหม่ซัพพอร์ตอุตฯอากาศยาน-การแพทย์
POSTED ON 09/02/2561


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

นายกั๋ว โชง จง กรรมการผู้จัดการ บริษัท จินป่าว พรีซิชั่น อินดัสทรี่ จำกัด (Jinpao Precision Industry) จากประเทศไต้หวัน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2561 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท กับบริษัท เหมราช พัฒนาที่ดิน จำกัด ภายใต้การบริหารงานของบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA จำนวน 54 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 2 จ.ชลบุรี เพื่อใช้รองรับการก่อสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนโลหะแผ่นสำหรับอุตสาหกรรมอากาศยาน และอุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้ถือเป็นการลงทุนขยายโรงงานแห่งที่ 3 จากปัจจุบันมีโรงงานอยู่ที่บางปู จ.สมุทรปราการ บนพื้นที่ 54 ไร่ โดยอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานอีก 1 แห่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.2561 นี้

 

สำหรับมูลค่าเงินลงทุนในโครงการดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น ค่าที่ดินประมาณ 200 ล้านบาท ค่าก่อสร้างโรงงาน 500 ล้านบาท และเงินลงทุนในเครื่องจักรและเทคโนโลยี 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายใน 2 ปี หรือราวปี 2563 และจะช่วยให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีก 1,500 ตำแหน่ง

 

หลังจากนี้บริษัทฯ ได้เตรียมยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งจะให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงถึง 8 ปี บวกกับสิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษี 50% อีก 5 ปี เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

 

การลงทุนในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจของบริษัทฯ ให้เติบโต คาดว่าภายใน 5 ปีรายได้ของบริษัทฯ จะเพิ่มขึ้นจาก 1,500 ล้านบาทในปี 2560 เป็นเท่าตัวอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้โรงงานของบริษัทฯ มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 70-80% โดยเป็นการผลิตป้อนให้กับบริษัท แอร์บัสฯ บริษัท โบอิ้งฯ และฟัลคอม เป็นต้น ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้ของบริษัทฯ ในปัจจุบันมาจากการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมอากาศยาน 20% อุตสาหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคม 30% และอีก 50% มาจากการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พลังงาน การแพทย์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับอาหาร

 

ขณะที่ในส่วนของโรงงานเก่านั้น บริษัทฯ ใช้เงินราว 100 ล้านบาท เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรมาทดแทนแรงงาน โดยเฉพาะในประเภทชิ้นงานที่ต้องผลิตมาก ๆ เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนเทเลคอม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าก่อนหน้านี้บริษัทฯ มีแผนจะลดพนักงานกว่า 300 คน เพื่อให้สวัสดิการและผลตอบแทนดีที่สุดกับพนักงานที่เหลืออยู่ แต่ปีที่ผ่านมาพบว่า รายได้และแนวโน้มการเติบโตดีกว่าที่เคยคาดการณ์ว่าจะเติบโตเพียง 5% จึงเปลี่ยนนโยบายการลดพนักงานและปรับการผลิตให้ตรงกับเป้าหมายของบริษัทฯ เพื่อไม่ให้มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน ปีนี้จึงยังไม่เพิ่มจำนวนพนักงานใหม่ แต่สำหรับการจ้างงานในโรงงานใหม่จะเริ่มในปี 2563 โดยจะมีการจ้างงานเพิ่ม แต่คงไม่มาก เพราะมีแผนจะใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาทำงานเกือบทั้งหมดในกระบวนการผลิต

 

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ, ประชาชาติธุรกิจ