FINANCE & INVESTMENT

บีโอไอ ไฟเขียวส่งเสริมลงทุนเฟส 2 ผลิตชิ้นส่วนหุ่นยนต์ของนาชิ
POSTED ON 04/07/2559


การเงินการลงทุน 4 ก.ค.2559 - บีโอไอ อนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้แก่ บริษัท นาชิ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตหุ่นยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น เพื่อขยายการลงทุนในโครงการเฟส 2 ที่ จ.อยุธยา ซึ่งเป็นโรงงานประกอบชิ้นส่วนยานยนต์ของบริษัทฯ โดยนาชิถือเป็นผู้ผลิตตลับลูกปืนที่ใช้ในเครื่องบิน รถไฟชินคันเซน และยานยนต์ทั่วไป รายใหญ่ที่สุด รองลงมาคือ คาวาซากิ และ มิตซูบิชิ

 

สำหรับเรื่องของสิทธิประโยชน์ ธุรกิจของนาชิถือว่าอยู่ในกลุ่ม New S-Curve ตามนโยบายการส่งเสริมของรัฐบาล จึงจะได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และหากลงทุนในพื้นที่ Super Cluster จะได้ทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อนภาษี 50% เพิ่มเติมอีก 5 ปี รวมถึงยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าต้องมีความร่วมมือกับสถาบัน การศึกษา สถาบันวิจัย หรือศูนย์ความเป็นเลิศ และต้องยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 30 ธ.ค.2559 เพื่อให้เห็นภาพการลงทุนจริงในปี 2560

 

นายอากิระ ทาการาจิมะ ผู้จัดการทั่วไปสายงานหุ่นยนต์ บริษัท นาชิ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลไทยประกาศนโยบาย Industry 4.0 ส่งผลให้ผู้ประกอบการในตลาดหุ่นยนต์สนใจมาลงทุนในไทยมากขึ้น ซึ่งนาชิเองจะเริ่มลงทุนผลิตชิ้นส่วนประกอบหุ่นยนต์ แล้วส่งกลับไปประกอบที่ญี่ปุ่น และส่งขายไปทั่วโลกตามคำสั่งซื้อของลูกค้าตามค่ายรถยนต์ต่าง ๆ อาทิ โตโยต้า อีซูซุ ฮอนด้า รวมถึงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์บางราย โดยจะใช้วิธีออกแบบ วิจัย ร่วมกับคู่ค้า และผลิตสินค้าให้ตามความต้องการ แต่อาจจะยังไม่มีการลงทุนเรื่องของศูนย์วิจัยในไทย เนื่องจากบุคลากรไทยยังไม่พร้อม

 

ปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์ของญี่ปุ่นจำนวน 15 ราย ส่วนในประเทศไทยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนหุ่นยนต์ประมาณ 5 ราย ซึ่งอันดับ 1 ได้แก่ ยาสกาว่า อิเล็คทริก อันดับ 2 เอบีบี อันดับ 3 คาวาซากิ และ มิตซูบิชิ และอันดับ 4 ได้แก่ นาชิ เทคโนโลยี ที่มีส่วนแบ่งตลาดในไทยประมาณ 10% จากกำลังการผลิตหุ่นยนต์ทั้งหมดกว่า 4,200 ตัว (ข้อมูลจาก International Federation of Robotics : IFR) โดยลูกค้าของบริษัทฯส่วนใหญ่เป็นญี่ปุ่นประมาณ 60% และเป็นไทยรวมถึงชาติอื่น ๆ อีกประมาณ 40%

 

นาชิเริ่มเข้ามาลงทุนในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2542 โดยตั้งโรงงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ระยอง และได้มีการขยายโรงงานบางส่วนเพื่อผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มายัง จ.อยุธยา โดยปัจจุบันถือเป็นโรงงานแห่งแรกที่สามารถผลิตหุ่นยนต์ 2 แขนได้

 

 

ด้าน นายวิโรจน์ ศิริธนาศาสตร์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมหุ่นยนต์มีบทบาทสำคัญมากขึ้น ซึ่งบริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่งได้เปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์ในกระบวนการผลิตเพื่อทดแทนแรงงานคน โดยนาชินั้นได้เข้าพบและพูดคุยถึงแผนการขยายธุรกิจอย่างเป็นทางการกับทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ตั้งแต่เมื่อช่วงเดือน ก.พ.2559 ที่ผ่านมา

 

“ขณะที่การชักจูงผู้ผลิตหุ่นยนต์จากญี่ปุ่นอีกรายอย่าง “มาซะ” ให้ย้ายฐานจากสิงคโปร์มาลงทุนที่ไทยก็น่าจะมีโอกาสเป็นไปได้ เนื่องจากการลงทุนในสิงคโปร์ติดอุปสรรคในเรื่องการขยายการลงทุน ทั้งพื้นที่ มูลค่าการลงทุน และตลาด รวมไปถึงแรงงานที่เริ่มจะประสบกับภาวะชะลอตัวและลดลง เนื่องจากสิงคโปร์ไม่ใช่ประเทศอุตสาหกรรมโดยตรง เหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านการเงินมากกว่า” นายวิโรจน์ กล่าว

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics