EVENT & SEMINAR

สอวช. เชิญกูรูแลกเปลี่ยน Future Mobility โอกาสทางอุตสาหกรรมของภาคเอกชนไทย
POSTED ON 27/08/2563


 

 

เวที Recovery Forum ในสัปดาห์นี้ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เชิญ รศ.ดร.ยศพงษ์ ละออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า มาบรรยายพร้อมแลกเปลี่ยนใน หัวข้อ Future Mobility โอกาสทางอุตสาหกรรมของภาคเอกชนไทย โดย ดร.ยศพงษ์ กล่าวว่า ในอุตสาหกรรมยานยนต์ก็เผชิญกับเรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือเรื่องผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม การเกิดมลพิษต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมของมนุษย์ที่คำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้รถมากยิ่งขึ้น หลายประเทศมีความพยายามในหลายๆทาง ในการช่วยลดมลภาวะและอุณหภูมิของโลก หนึ่งในวิธีการดังกล่าวก็คือการใช้พลังงานสะอาด อย่างเช่นการใช้พลังงานไฟฟ้าในรถยนต์แทนการใช้เชื้อเพลิงอย่างก๊าซหรือน้ำมัน ในประเทศไทยเองก็มีแนวทางในการช่วยลดมลพิษที่เกิดจากยานพาหนะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ทั้งการสนับสนุนให้เดินทางโดยรถสาธารณะ รณรงค์เรื่องการใช้รถร่วมกัน (Car Pool) เรียกง่ายๆ ว่าทางเดียวกัน ไปด้วยกัน ตลอดจนการใช้ยานยนต์พลังงานสะอาด ซึ่งจากข้อมูลพบว่าตัวเลขของรถยนต์ไฮบริดเติบโตขึ้น รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเติบโตแบบก้าวกระโดดในรอบสองปีที่ผ่านมา หากไม่เจอสถานการณ์โควิด - 19 คาดว่าจะเพิ่มได้มากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนให้เกิดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ผู้เล่นในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้บริโภคต้องเห็นเป้าหมายร่วมกัน เช่น เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับภาครัฐต้องมีนโยบาย กลไกช่วยขับเคลื่อน และออกมาตรการควบคุม ดูแล และสนับสนุน ซึ่งหากประเทศไทยวางกรอบอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้ดี เราก็จะมีโอกาสเป็นผู้นำในอาเซียนได้ก่อน

“ไทยเรามีประสบการณ์จากวิกฤตโควิด 19 ที่ทุกคนเห็นถึงอันตราย จึงร่วมมือร่วมใจกัน ประกอบกับรัฐบาลมีมาตรการที่ดี จึงทำให้ประเทศไทยสามารถต่อสู้กับวิกฤตโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหามลพิษก็เช่นเดียวกัน ถ้าทุกคนมองภาพเดียวกัน การแก้ปัญหาก็จะไปในทิศทางเดียวกัน ยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาและยังจะสร้างโอกาสให้กับอุตสาหกรรมในประเทศที่ไม่ใช่แค่เรื่องตัวรถ แต่ยังเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมประเภทดิจิทัล IoT แอพพลิเคชั่นและซอฟท์แวร์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าที่จะได้รับอานิสงส์ไปด้วย” ดร.ยศพงษ์ กล่าว

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า ยานยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคตของประเทศไทย เพราะทั่วโลกให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม หากได้รับการสนับสนุนจัดทำมาตรฐานของยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการออกมาตรการกระตุ้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาบุคลากรไทยด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เมื่อเกิดความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าสูงขึ้น การผลิตก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ผู้ผลิตรถยนต์จะเกิดความเชื่อมั่นและกล้ามาลงทุนในตลาดนี้มากยิ่งขึ้น แต่หากเรารอเวลาไม่ทำอะไรเราจะกลายเป็นแค่ผู้บริโภคเท่านั้น โอกาสของประเทศก็จะหายไป