EVENT & SEMINAR

BOSCH ผนึก WHA หนุนเทคโนโลยีดิจิทัล จัดงาน ไทยแลนด์ สมาร์ท แมนูแฟคเจอริ่ง 2018
POSTED ON 19/11/2561


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

บริษัท โรเบิร์ต บ๊อช จำกัด และ บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกันจัดงาน "ไทยแลนด์ สมาร์ท แมนูแฟคเจอริ่ง 2018" และเป็นเจ้าภาพรับรองผู้เข้าร่วมงานทั้งจากภาครัฐฯ และเอกชน เพื่อสาธิตศักยภาพของโซลูชั่นส์ที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมต่างๆ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิต เพื่อการพัฒนาในระยะยาวและการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์

 

ภายในงาน มีการนำเสนอเทคโนโลยีที่โดดเด่น ได้แก่ การบูรณาการระบบต่างๆ เข้าด้วยกันในยุคอุตสาหกรรม 4.0 โดยสาธิตสดการทำงานของสายการผลิตที่รวบรวมข้อมูลแบบเป็นปัจจุบัน รวมทั้งระบบหม้อต้มอัจฉริยะ ระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ เครื่องมือที่สามารถในการเชื่อมต่อกัน และอื่นๆ อีกมากมาย

 

มร. โจเซฟ ฮง กรรมการผู้จัดการของบ๊อช ประเทศไทย กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยว่า "บ๊อชทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรม โดยช่วยเร่งให้เกิดการนำนวัตกรรมการผลิตอัจฉริยะต่างๆ ที่สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มาใช้"

 

รัฐบาลไทยกำลังนำมาตรการเชิงรุกมาใช้เพื่อส่งเสริมการผลิตอัจฉริยะ ซึ่งเน้นที่อุตสาหกรรมยุคใหม่ โดยจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อการพัฒนาประเทศไทย และสร้างความได้เปรียบทางการตลาด ตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของประเทศ เรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ และการส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงานในองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในประเทศในภูมิภาคนี้ที่มีความยอดเยี่ยมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัลคอนเทนท์ ธุรกิจและนวัตกรรม รวมถึงการใช้เครือข่ายดิจิทัลระหว่างบุคคล บริษัทเอกชน และองค์กรภาครัฐฯ ต่างๆ

 

จุดศูนย์กลางของการเติบโตด้านเทคโนโลยีและการผลิตอัจฉริยะของประเทศไทย อยู่ที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งมีโรงงานต่างๆ ของบ๊อชตั้งอยู่ การลงทุนมหาศาลในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยพัฒนาระบบการเชื่อมต่อกันของพื้นที่แห่งนี้กับภูมิภาคอาเซียนและทั่วโลก โดยเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งมีผลให้รัฐบาล ลงทุนมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท (ประมาณ 45 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพื่อใช้ในการพัฒนาและสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับพื้นที่แห่งนี้

 

การผลิตอัจฉริยะช่วยเสริมแกร่งศักยภาพของอุตสาหกรรม 4.0 และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้สูงขึ้น ซึ่งมีหลายตัวอย่างที่เกิดจุดพลิกผันขึ้นจริงในธุรกิจ เนื่องจากผู้ผลิตเครื่องจักรและเจ้าของโรงงานผลิตชาวไทยหันมาใช้ระบบและกระบวนการผลิตอัจฉริยะเพิ่มมากขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้จากความพยายามเหล่านี้ ช่วยให้การผลิตและกระบวนการโลจิสติกส์ต่างๆ มีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการทำกำไร มีความยืดหยุ่น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

 

นายวิรัตน์ รัชศฤงคารสกุล ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 4 (ชลบุรี) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า "คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีนโยบายที่จะสนับสนุนให้เกิดการนำเอาเทคโนโลยีอัตโนมัติ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยอื่นๆ มาใช้เพื่อพัฒนากระบวนการผลิต ในขณะเดียวกัน เราก็สนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการจัดการฝึกอบรมทางด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย"

 

มร. เดวิด นาร์โดน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและการลงทุนต่างประเทศ บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ผู้ผลิตจำเป็นต้องเร่งสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ด้วยการปรับปรุงขั้นตอนการผลิตโดยนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้งานมากขึ้น ทั้งนี้ ดับบลิวเอชเอ ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดีเยี่ยมภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ภายใต้คอนเซ็ปต์นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Estate) ที่ครบครันด้วยโครงสร้างพื้นฐานอันทันสมัย จึงช่วยให้เรามีความพร้อมในการสนับสนุนการสร้างระบบการผลิตอัจฉริยะให้เกิดขึ้นในประเทศไทย"

 

ความเห็นนี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก รองศาสตราจารย์ ดร. ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) และกรรมการคลัสเตอร์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) โดยกล่าวว่า "ในความเป็นจริง เรารู้มาตลอดว่าระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ในสถานที่ที่มีอันตรายต่างๆ เช่น พื้นที่ความร้อนสูงจัด หรือในสถานที่สูงและแคบ ซึ่งหุ่นยนต์สามารถปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่องและถูกต้องแม่นยำ ผมคิดว่าเรามาถูกทางแล้ว และมั่นใจว่าประเทศไทยมีขีดความสามารถมากพอที่จะผลิตแรงงานที่มีความสามารถ เพื่อช่วยพัฒนายุคแห่งการผลิตอัจฉริยะนี้"

 

งานไทยแลนด์ สมาร์ท แมนูแฟคเจอริ่ง 2018 ซึ่งจัดโดยบ๊อช ด้วยความร่วมมือกับ ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ ได้ทำหน้าที่ในการเป็นแพลตฟอร์มเพื่อนำพันธมิตรและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาพบปะ เพื่อร่วมเสวนาในประเด็นต่างๆ แลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติและประสบการณ์เฉพาะทางจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาการดำเนินธุรกิจ แลกเปลี่ยนมุมมอง องค์ความรู้ และประสบการณ์ เหล่านี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการผลิตอัจฉริยะ และนำพาประเทศไทยไปสู่การพัฒนาในระดับต่อไป