EVENT & SEMINAR

สถาบันยานยนต์ ร่วมกับ รี้ดฯ จัดงานสัมมนา Automotive Summit 2014
POSTED ON 24/06/2557


 

ข่าวงานแสดงสินค้าและสัมมนา - เมื่อวันที่ 19-20 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา สถาบันยานยนต์ ร่วมกับ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จัดงานสัมมนา Automotive Summit 2014 ภายใต้หัวข้อ "เปลี่ยนโลกทั้งใบ ด้วยการขับเคลื่อนที่ยั่งยืน" (Green Mobility Changing the World) โดยงานสัมมนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงาน Manufacturing Expo 2014 จัดขึ้น ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

 

Automotive Summit 2014 เป็นงานสัมมนาระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ และเทคโนโลยีด้านวิศวกรรม รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเป็นงานสัมมนาที่ครอบคลุมครบทุกวงจรด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยงานฯ ดังกล่าวได้รับเกียรติจากผู้บริหารชั้นนำในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งไทยและต่างประเทศ รวมทั้งวิทยากรระดับแนวหน้าในธุรกิจยานยนต์ทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชีย มาให้ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการผลิต การขาย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านต่างๆ  เพื่อผลักดันให้เกิดการต่อยอดในการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยต่อไป

 

นายวิชัย จิราธิยุต ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยว่า ปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 9 ของโลก มียอดการผลิตอยู่ที่ 2.45 ล้านคัน รองมาจากจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลี อินเดีย บราซิล เม็กซิโก และอันดับ 10 คือ แคนาดา แต่ยอดขายของประเทศไทยอยู่ในอันดับ 13 ของโลก

 

สำหรับในภูมิภาคอาเซียน อินโดนีเซียมีอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ 15% ซึ่งสูงกว่าไทยที่คาดว่าจะเติบโต 12% แต่ภาพรวมทุกฝ่ายเชื่อว่าไทยยังมีศักยภาพที่ดีกว่า และยังรักษาฐานการผลิตอันดับหนึ่งในอาเซียนได้ เนื่องจากรัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมการผลิตรถยนต์ Eco Car เฟส 2

 

แม้ว่าโครงการ Eco Car เฟส 2 ได้ปิดรับสมัครไปแล้ว แต่ผู้ประกอบการมีสิทธิ์ขอขยายระยะเวลาการรับสิทธิ์ได้ 3 ปี นับตั้งแต่บีโอไออนุมัติโครงการสำหรับยอดการผลิตรถยนต์ได้มีการปรับลดการผลิตลง 5-10% จากปีก่อนที่ผลิตได้ 2.456 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่ 2.455 ล้านคัน ทั้งนี้ จากการสอบถามและหารือกับกลุ่มผู้ผลิตเชื่อว่ายอดปีนี้อาจจะไม่เทียบเท่ากับปีก่อนหน้า แต่จะผลิตได้เท่าไรคงต้องรอประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง เพราะตลาดในประเทศยังคงได้รับผลกระทบจากการดึงดีมานด์มาใช้ล่วงหน้า จึงทำให้ยอดขายในประเทศไม่เป็นไปตามคาด

 

ขณะที่ตลาดส่งออกโดยรวมเปรียบเทียบระหว่างปี 2555 กับ 2556 เพิ่มขึ้นมา 5% แบ่งเป็น รถยนต์เพิ่มขึ้น 4% จักรยานยนต์ เพิ่มขึ้น 22% ชิ้นส่วนรถยนต์ 4% คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.11 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากปี 2555 แต่ถ้าเปรียบเทียบระหว่างไตรมาสแรกของปี 2556 และ 2557 จะเห็นได้ว่าการส่งออกโดยรวมในไตรมาสของปี 2557 เพิ่มขึ้นถึง 13%

 

“ด้วยนโยบายการสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้เป็นผู้นำในเวทีโลก โดยเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรม ยานยนต์แบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อเป็น ‘ศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของโลก’ โดยเฉพาะการพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้มีความแข็งแกร่ง มีประสิทธิภาพและผลิตภาพมากขึ้น เพื่อเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยอย่างยั่งยืน และจะส่งผลให้ไทยสามารถผลิตรถยนต์ได้ 3 ล้านคัน ภายในปี 2560 ตามเป้าหมายของแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่ม การจ้างงาน องค์ความรู้ และบุคลากร อย่างแท้จริงต่อไป”

 

นายวิชัย ยังกล่าวถึงแผนรองรับของอุตสาหกรรมยานยนต์ปี 2557 กับการย่างก้าวสู่ AEC ด้วยว่า สำหรับแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ปี 2557 สถาบันฯ ได้มีการกำหนดไว้ 5 ข้อ ซึ่งประกอบไปด้วย

 

1. ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีการวิจัยและพัฒนา

2. ความเป็นเลิศของบุคลากร ตั้งแต่ในสถาบันการศึกษา ในอุตสาหกรรม รวมถึงสถาบันยานยนต์

3. เสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการอย่างครบวงจร

4. เสริมสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีด้วยโครงสร้างปัจจัยพื้นฐาน

5. เสริมสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีด้วยกฎระเบียบและนโยบาย

 

นอกจากนี้ ทางสถาบันยานยนต์ยังมี 2 ภารกิจเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ คือ การพัฒนาบุคลากร โดยร่วมกับ สมอ. ในการผลักดันการหาเครื่องมือตรวจสอบมาตรฐานยานยนต์ (ASEAN MRA) 19 รายการ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2559-2560 พร้อมเดินหน้าตามแผนแม่บท หวังดันไทยก้าวสู่ฐานการผลิตระดับโลก โดยแผนงานและวิสัยทัศน์ การพัฒนาบุคลากรของสถาบันยานยนต์เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558

 

รวมทั้งจะดำเนินการจัดหาอุปกรณ์ตรวจสอบมาตรฐานยานยนต์ โดยจะติดตั้งบนพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมบางปู และจัดหาที่ดินประมาณ 200 ไร่ ในการติดตั้งอุปกรณ์ทดสอบให้ครบ 19 รายการ ที่ผ่านมาสถาบันยานยนต์และ สมอ. ได้ดำเนินการไปแล้ว 7-8 รายการ ยังเหลืออีก 11 รายการที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อม และต้องจัดหางบประมาณราว 3,000 ล้านบาท สำหรับที่ดินดังกล่าวตลอดจนเครื่องมือทดสอบด้วย เพื่อให้ครบและครอบคลุมภายในปี 2559-2560

 

ส่วนภารกิจเร่งด่วนที่ 2 นั้นสถาบันยานยนต์จะลงทุนสร้างสนามทดสอบ "พรูฟวิ่ง กราวนด์" และ "แคร็ซ เทสต์" ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยถือเป็นหน้าที่และภารกิจสำคัญที่สถาบันยานยนต์จะต้องชี้แจงเพื่อให้รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณมาช่วยพัฒนา เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้มีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต