ENVIRONMENT

รัฐมนตรี ก.ต่างประเทศ เสนอให้ขับเคลื่อน BCG Model
POSTED ON 18/01/2564


 

 

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เสนอให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ผ่านความเป็นหุ้นส่วนและความยั่งยืน ดึงดูดความร่วมมือในยุคหลังโควิด-๑๙ และวาระประธานของไทยในเวที BIMSTEC และ APEC รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมประชุมคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) พร้อมเสนอยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน อาทิ การนำเสนอความเป็นหุ้นส่วน(Partnership) และความยั่งยืน (Sustainability) โดยกำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์ชาติในยุคหลังโควิด-๑๙ และวาระประธานของไทยในเวทีความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Benegal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation- BIMSTEC) และความร่วมมือในกรอบเอเปค (Asia Pacific Economic Cooperation- APEC) เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ โดยมีพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน การประชุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันเป้าหมายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศรายได้สูงที่สามารถใช้พื้นที่เกษตรเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับวาระของโลก อาทิ การลดปริมาณขยะ ลดการใช้พลังงานฟอสซิล สภาพภูมิอากาศเปลี่ยน ภัยพิบัติ และการกัดเซาะชายฝั่ง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในฐานะรองประธานการประชุมฯ ได้เสนอยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ใน ๕ ด้าน ได้แก่ (๑) การนำเสนอหรือประชาสัมพันธ์ (marketing) องค์ประกอบของ BCG โดยเฉพาะด้านความเป็นหุ้นส่วน (partnership) และความยั่งยืน (sustainability) (๒) การดึงดูดความร่วมมือจากประเทศต่าง ๆ ผ่านการส่งเสริม BCG ในยุคหลังการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายยุโรปเพื่อลดโลกร้อนหรือ Green Deal ของสหภาพยุโรป (๓) สนับสนุนให้ BCG เป็นกรอบแนวคิดในการทำงานของไทยที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม และประชาสัมพันธ์กรอบแนวคิดดังกล่าวในเวทีโลก (๔) ดำเนินการผลักดัน BCG โดยวางบทบาทให้ไทยเป็นผู้ประสานงานและส่งเสริมแนวคิดดังกล่าว ในลักษณะเดียวกับการส่งเสริม SDGs ผ่านการเป็นผู้ประสานงานของอาเซียนในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals- SDGs) (๕) กำหนดเป็นวาระประธานของไทย โดยใช้โอกาสการเป็นประธาน BIMSTEC 2021 และเจ้าภาพ APEC 2022 ในการขับเคลื่อนประเด็น BCG กับภูมิภาค ทั้งเอเชียใต้และเอเชีย-แปซิฟิก ส่งเสริมพลวัตและผลลัพธ์ในทางปฏิบัติ BCG Economy เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติ โดยนำองค์ความรู้มาต่อยอดฐานความเข้มแข็งภายในของประเทศไทย อาทิ ความหลากหลายทางชีวภาพและผลผลิตทางการเกษตร พร้อมกับปรับเปลี่ยนระบบการผลิตไปสู่ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG ประกอบด้วยแนวคิดหลัก ๒ แนวคิด ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพและเศรษฐกิจหมุนเวียน ประกอบเป็นแนวคิดที่กว้างขึ้นเพื่อสอดรับแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งรวมให้เกิด BCG Economy Model ที่ประกอบด้วย ๓ เศรษฐกิจหลัก ได้แก่ (๑) ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า (๒ )ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งเน้นการนำวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ให้มากที่สุด และ (๓) ระบบเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหา และการลดผลกระทบ อนึ่ง คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในปี ๒๕๖๔ ? ๒๕๖๙ โดยมียุทธศาสตร์คือการรักษาสมดุลระหว่างการดูแลทรัพยากรธรรมชาติกับการสร้างมูลค่า โดยมีสาขาเศรษฐกิจหลัก ๔ สาขา ได้แก่ (๑) อาหารและการเกษตร (๒) สุขภาพและการแพทย์ (๓) พลังงาน วัสดุ เคมีชีวภาพ และ (๔) การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยใช้วิธีการคือ กำหนดเป้าหมาย จัดสรรงบประมาณ พัฒนากำลังคน พัฒนาตลาด สร้างความตระหนัก และทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ-เอกชน-วิชาการ-ประชาชน