ENVIRONMENT

PPP Plastics หนุนระยอง สร้างโรงเรียนต้นแบบตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน
POSTED ON 09/10/2563


 

 

โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน (PPP Plastics) จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “โรงเรียนต้นแบบตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน” ขยายผลองค์ความรู้ด้านการคัดแยกพลากติกเหลือใช้สู่โรงเรียนในจังหวัดระยอง

 

นายสมชาย รุ่งเรือง ท้องถิ่นจังหวัดระยอง กล่าวว่า “ตลอดกว่า 2 ปีที่ผ่านมา เราได้ร่วมกันกำหนดกลยุทธ์ วางแผน ดำเนินการ และติดตามประเมินผลร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสร้างระบบการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมชุมชนต้นแบบในการคัดแยกขยะ การรณรงค์ปรับพฤติกรรมการใช้พลาสติกให้เกิดการคัดแยกอย่างถูกต้องตามประเภทก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ การสนับสนุนให้สถานศึกษามีองค์ความรู้จึงถือเป็นการวางรากฐาน สร้างความตระหนัก และส่งต่อความรู้สู่เยาวชนลูกหลานของเรา ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน”

ตลอดทั้งวันของการอบรมเชิงปฏิบัติการ “โรงเรียนต้นแบบตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน” ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงแรมโกลเด้นซิตี้ ระยอง โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายลดพลาสติกไทยแลนด์ (Less Plastic Thailand) คณาจารย์กว่า 70 คนจากโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานรวมทั้งสิ้น 30 แห่ง ได้ร่วมรับฟังแนวคิดการจัดการพลาสติกตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ฝึกคัดแยกเพื่อสร้างมูลค่าจากพลาสติกเหลือใช้ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาแนวทางนำองค์ความรู้ไปขยายผลแก่เยาวชนเพื่อสร้างโรงเรียนปลอดขยะให้เกิดขึ้นในชุมชน และพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนในสถานศึกษาให้เป็นต้นแบบในการนำประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

“พลาสติกมีประโยชน์และมีค่าเกินกว่าจะถูกทิ้งอยู่ในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพลาสติกเป็นทรัพยากรที่ใช้ได้ไม่รู้จบ หากสามารถคัดแยกจากขยะอื่น ๆ ตั้งแต่ต้นทางได้อย่างถูกต้องเพื่อลดการปนเปื้อน ก็จะสามารถช่วยลดจำนวนขยะที่เกิดขึ้นได้ ที่สำคัญชุมชนก็จะขายพลาสติกแต่ละชนิดได้ในราคาที่สูงขึ้นเพื่อวนนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและใช้ประโยชน์ตามแต่ละประเภทต่อไป จากการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 2 ปี พันธมิตรในโครงการสามารถนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์เพื่อลดปริมาณที่หลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อมได้แล้วมากกว่า 300 ตัน” นางภรณี กองอมรภิญโญ ผู้บริหารกลุ่ม PPP Plastics กล่าว

สำหรับแนวทางการจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นแนวทางที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นวิธีแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่ยั่งยืน เนื่องจากเป็นระบบจากจัดการของเสียจากการผลิตและการบริโภคด้วยการนำผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วเข้าสู่ระบบการผลิตใหม่ (re-material) หรือนำมาใช้ซ้ำ (re-use) แต่การที่จะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนประสบผลสำเร็จ จะต้องสร้างความรู้และทัศนคติที่ถูกต้องในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพในการจัดการขยะพลาสติก

“การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนเรื่องการคิดก่อนใช้ แยกก่อนทิ้ง ช่วยให้การนำขยะไปใช้ประโยชน์ได้สะดวกและง่ายขึ้น เพิ่มอัตราการรีไซเคิลขยะให้สูงขึ้น และแก้ไขปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน หากเราทุกคนช่วยกันจะช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม บนฐานของการที่ประชาชนมีความรู้และตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนเองในฐานะผู้มีส่วนร่วมในการเป็นผู้ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและคุ้มค่าตามโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเหล่านี้สามารถที่จะแบ่งปันและขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆ ในอนาคตต่อไป” ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานกลุ่ม PPP Plastics กล่าวสรุป